2009-05-23

โรคลำไส้อักเสบติดต่อ หรือการติดเชื้อพาโวไวรัสในสุนัข

ตั้งแต่ปี 2521 หรือปี ค.ศ. 1978 มีรายงานพบว่าสุนัขทุกอายุ ทุกเพศและทุกพันธุ์สามารถเป็นไวรัสที่สามารถติดต่อที่รุนแรงที่ทำลายระบบทางเดินอาหาร เม็ดเลือดขาว และในสุนัขบางตัวจะมีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ เกิดจากการติดเชื้อพาโวไวรัส (parvovirus: CPV)ปัจจุบันเรียกโรคนี้ว่า โรคติดเชื้อพาโวไวรัสในสุนัข หรือโรคลำไส้อักเสบติดต่อ (canine parvoviral infection) ซึ่งมีการระบาดทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

การติดเชื้อพาโวไวรัสสามารถแพร่กระจายจากสุนัขตัวหนึ่งไปอีกตัวหนึ่ง การติดต่อมีโอกาสมากขึ้นเมื่อสุนัขไปอยู่รวมกันมาก เช่น ในงานประกวดสุนัข โรงเรียนฝึกสุนัข คอกผสม หรือร้านขายผลิตภัณฑ์ของสุนัข สนามเด็กเล่น หรือบริเวณอื่นๆ ที่เป็นที่อยู่ที่เล่น หรือแหล่งรวมสุนัขก็จะเป็นแหล่งที่ทำให้สุนัขปกติไปรับเชื้อมาจากการสัมผัสได้

สุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้าน หรือไว้ในคอก ในสวนมีโอกาสที่จะสัมผัส หรือเล่นกับสุนัขตัวอื่นได้ยาก จะมีโอกาสที่จะสัมผัสติดเชื้อไวรัสได้ยาก การติดเชื้อพาโวไวรัสสามารถติดต่อได้กับสุนัขด้วยกัน หรือสัตว์ในตระกูลสุนัข โรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อพาโวไวรัสจะเกิดขึ้นเฉพาะแต่สุนัข หรือสัตว์ในตระกูลสุนัขเท่านั้น จะไม่ก่อให้เกิดโรคลำไส้ใน สัตว์ชนิดอื่นๆ หรือคน แต่สัตว์ชนิดอื่นๆ หรือคนสามารถที่จะเป็นพาหะนำเชื้อพาโวไวรัสมาติดกับสุนัขของตนเองได้

สุนัขสามารถติดเชื้อได้จากอุจจาระของสุนัขที่ป่วยเป็นโรค หรือของเหลวที่สุนัขป่วยอาเจียนออกมา ในอุจจาระของสัตว์ป่วยจะพบมีเชื้ออยู่จำนวนมาก พาโวไวรัสเป็นไวรัสที่มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมมาก ไวรัสสามารถ มีชีวิตอยู่นอกตัวสัตว์ หรือในสิ่งแวดล้อมได้เป็นระยะเวลานาน ไวรัสสามารถแพร่กระจายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ด้วย การติดไปกับขน ผม หรือเท้าของสุนัขที่ป่วย หรือติดเชื้อ หรือเชื้อไวรัสอาจจะปนเปื้อนไปกับกรง รองเท้า หรือวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ


เราจะทราบได้อย่างไรว่าสุนัขติดเชื้อพาโวไวรัส

อาการเริ่มแรกของสุนัขที่ติดเชื้อพาโวไวรัสคือ ซึม เบื่ออาหาร อาเจียนและท้องเสีย อย่างรุนแรง อุณหภูมิของร่างกายอาจจะสูงขึ้น อุณหภูมิของร่างกายที่วัดจากทวารหนักของสุนัข มีค่าประมาณ 101º - 102ºF อาการป่วยดังกล่าวมักจะปรากฏขึ้นภายหลังจากที่สุนัขได้รับเชื้อ ไวรัสได้ประมาณ 5-7 วัน ในระยะแรกของการติดเชื้อ(แสดงอาการแล้ว) อุจจาระของสุนัขจะมีลักษณะเหลวมีสีออกเทา หรือเหลืองเทา (yellow-gray) ในบางครั้งอาการแรกเริ่มสุนัขอาจจะถ่ายเหลวโดยมีเลือดปนออกมาได้

เมื่อสุนัขมีการถ่ายเหลว หรืออาเจียนอย่างรุนแรง ทำให้สุนัขสูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกายอย่างรวดเร็ว สุนัขป่วยบางตัวจะมีอาการอาเจียนอย่างรุนแรงและถ่ายอุจจาระเป็นน้ำสีน้ำตาลจนถึงสีแดง(มีเลือดปน)พุ่งจนตายได้ ในสุนัขบางตัวอุจจาระอาจจะมีลักษณะเหลวเท่านั้นและสามารถฟื้นตัวจากการป่วยได้ อาการป่วยมักพบว่า ลูกสุนัขจะแสดงอาการป่วยรุนแรงกว่าสุนัขโต

สุนัขมักจะตายภายใน 48-72 ชั่วโมงหลังจากที่เริ่มแสดงอาการ ลูกสุนัขมักจะตายด้วยภาวะช๊อค โดยมักจะเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อประมาณ 1-2 วัน ในอดีตพบว่าลูกสุนัขอายุน้อยกว่า 5 เดือนมีอัตราการป่วยค่อนข้างสูงและประมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์จะตายจากการติดเชื้อนี้ ปัจจุบันเนื่องจากมีการฉีดวัคซีนกันอย่างแพร่หลาย อัตราการป่วยและอัตราการตายจากการติดเชื้อจึงลดลง เว้นแต่เจ้าของ สุนัขไม่ค่อยสนใจฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับสุนัขเป็นประจำ โอกาสป่วยเป็นโรคจึงมีมากขึ้น

ลูกสุนัขช่วงระหว่างหย่านม (1 เดือน)ถึงอายุ 6 เดือนเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรค มีรายงานการศึกษาพบว่า สุนัขบางพันธุ์จะแสดงอาการป่วยที่มีความรุนแรงในบางสายพันธุ์ เช่น ร๊อตไวเลอร์ และโดเบอร์แมนพิ้นเชอร์

อาการป่วยของสุนัขที่ติดเชื้อพาโวไวรัสอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือไปจากการแสดงอาการของลำไส้อักเสบ คือ การเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ(myocarditis) ในลูกสุนัขที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน ลูกสุนัขที่ป่วยในรูปแบบนี้มักจะไม่ แสดงอาการท้องเสีย เนื่องจากเชื้อไวรัสจะมีการเจริญ หรือแบ่งตัวอย่างรวดเร็วในกล้ามเนื้อหัวใจของลูกสุนัข

ลูกสุนัขที่มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจอันเนื่องมาจากการติดเชื้อพาโวไวรัสจะมีอาการซึม ไม่ดูดนมเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเสียชีวิต ยังไม่มีการรักษาใดที่จำเพาะต่อการติดเชื้อในรูปแบบนี้ ลูกสุนัขที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อจะพบว่ามีความเสียหายของหัวใจ แต่ลูกสุนัขอาจจะจะตาย ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวหลังรอดจากการติดเชื้อในเวลาต่อมา(เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน)


โรคลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัขสามารถวินิจฉัยและรักษาได้อย่างไร

การวินิจฉัยจะอาศัยอาการทางคลินิก แต่ทั้งนี้ต้องแยกโรคให้ได้จากภาวะที่ทำให้สุนัข ท้องเสียและอาเจียนอื่นๆ แต่สิ่งที่อาจจะแสดงให้เห็นว่าสุนัขติดเชื้อพาโวไวรัสคือ การแพร่กระจายของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว การตรวจวินิจฉัยยีนยันสามารถทำได้ด้วยการแยกเชื้อไวรัสจากอุจจาระ อย่างไรก็ตามยังไม่ยาชนิดใดที่จำเพาะที่ใช้ในการฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้

การรักษาการโรคติดเชื้อพาโวไวรัสควรเริ่มทันทีเมื่อวินิจฉัยว่าสัตว์แสดงอาการป่วย โดยเริ่มจากการให้สารน้ำเพื่อทดแทนภาวะการสูญเสียของเหลวและเกลือแร่ของร่างกาย ควบคุมอาการอาเจียนและท้องเสียของสุนัขป่วยและป้องการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ

ควรให้ความอบอุ่นกับร่างกายของสุนัขป่วยและให้การดูแลอย่างใกล้ชิด.


การป้องกันโรคลำไส้อักเสบติดต่อในสุนัข

การป้องกันโรคลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อพาโวไวรัสสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกัน โดยปกติในลูกสุนัขมักจะเริ่มต้นฉีดเมื่ออายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งที่อายุประมาร 10-12 สัปดาห์(ห่างจากครั้งแรกประมาณ 1 เดือน) เพื่อให้มีระดับภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอสำหรับการป้องกันโรค วัคซีนป้องกันโรคนี้มีทั้งแบบที่แยกเป็นวัคซีนชนิดนี้เพียงอย่างเดียว หรือรวมอยู่กับวัคซีนชนิดอื่น เช่น ไข้หัด ตับอักเสบ เลปโตสไปโรซิส หวัด เป็นต้น ซึ่งเรียกวัคซีนประเภทนี้ว่า วัคซีนรวม หลังจากนั้นจึงฉีดวัคซีนประจำทุกปี ซึ่งควรสอบถามสัตวแพทย์ถึงโปรแกรมการฉีดในลำดับต่อไปด้วย

กรณีที่สุนัขที่เลี้ยงเกิดป่วยติดเชื้อพาโวไวรัส ต้องทำความสะอาดบริเวณกรง หรือคอก หรือที่อยู่ของสุนัขป่วย เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ด้วยยาฆ่าเชื้อ พวกสารละลายโซเดียมไฮโดรคลอไรต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาฆ่าเชื้อที่มีใช้อยู่ในบ้าน อยู่แล้ว(ยาทำความห้องน้ำ ครัว) อย่าลืมว่าเชื้อพาโวไวรัสนี้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมได้เวลานานเป็นเดือนๆ

เจ้าของสุนัขควรป้องกันไม่ให้สุนัขไปสัมผัสกับสิ่งขับถ่ายของสุนัขอื่นๆ เมื่อนำมันออกไปนอกบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือนควรระมัดระวังอย่างยิ่ง สิ่งปฏิกูล หรือสิ่งขับถ่ายของสุนัขควรกำจัดทิ้งให้เร็วที่สุดไม่ควรกัก หมักหมมไว้ ถ้าเป็นไปได้ควรตรวจสอบดูสิ่งขับถ่ายของสุนัขข้างบ้านด้วย และควรแนะนำให้ปฏิบัติตาม สุนัขจะได้ปลอดภัยไม่นำเชื้อมาให้กันและกัน

ถ้าไม่แน่ใจว่าสุนัขของเรากำลังจะป่วยด้วยการติดเชื้อพาโวไวรัส หรือโรคลำไส้อักเสบหรือไม่ ควร ปรึกษาสัตวแพทย์ การลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพาโวไวรัสที่ดีที่สุดคือป้องกันสุนัขไม่ให้ไปสัมผัสกับสุนัขอื่นๆ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้


คำแนะนำสำหรับการเลี้ยงดูให้สุนัขมีสุขภาพดี

สัตว์เลี้ยงที่มีสุขภาพดีจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นเพื่อนที่มีความสุข เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงของท่านมีชีวิตที่ดี เจ้าของสัตว์จะต้องให้ความใส่ใจในการดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิดและควรทำเป็นประจำ เพื่อลดโอกาสการป่วยชองสัตว์ ดังนั้นเจ้าของสุนัขควรปรึกษา หรือนำสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ เมื่อพบว่า สุนัขมีอาการต่างๆ เหล่านี้
  • พบมีสิ่งคัดหลั่งที่ผิดปกติออกจากจมูก ตา หรือช่องเปิดอื่นๆของร่างกาย 
  • สัตว์เลี้ยงไม่กินอาหาร มีน้ำหนักลดลง หรือกินน้ำมากขึ้นกว่าปกติ 
  • ขับถ่ายลำบาก หรือผิดปกติ หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ 
  • พบมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ หรือพบมีความดุร้ายขึ้นอย่างกระทันหัน หรืออ่อนเพลีย 
  • พบมีก้อนผิดปกติ เดินกระโผลกกระเผลก ลุกหรือนอนลำบาก 
  • มีการสั่นหัวมากผิดปกติ เกา หรือเลีย หรือกัดแทะตามลำตัวมากผิดปกติ 

ลูกสุนัขที่ติดเชื้อพาโวไวรัสที่ทำให้มีการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจมักจะมีอาการซึม และไม่ยอมดูดนมและตายอย่างรวดเร็ว ลูกสุนัขบางตัวอาจตายในอีกหลายวันต่อมา การติดเชื้อในลักษณะนี้ ยังไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะ ลูกสุนัขที่รอดชีวิตจะพบมีความเสียหายของหัวใจบางส่วน(ถาวร) ลูกสุนัขบางตัวอาจจะ ตายด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนต่อมา หลังจากที่หายป่วยแล้ว

No comments:

Post a Comment