2009-05-31

ลักษณะของสุนัข ไทยหลังอาน

ลักษณะโดยทั่วไป

สุนัขหลังอานมีรูปร่างใกล้เคียงกับสุนัขพันธุ์ไทยพื้นบ้านทั่วไป จุดเด่นที่สะดุดตามากที่สุดก็คือมีอานอยู่บนหลัง มีท่าทางว่องไว กระฉับกระเฉง ดูร่าเริง ฉลาด ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อเจ้าของ และยังมีสัญชาติญาณในการล่าสัตว์ปรากฎให้เห็น คือ มีความดุร้ายพอสมควร ระแวดระวังคนแปลกหน้า หรือตื่นตระหนกเมื่อได้ยินเสียงต่างๆ แต่ขณะที่สุนัขหลังอานยืนเพ่งดูคน หรือสิ่งแปลกปลอม จะมีลักษณะสง่างาม หน้าจะเชิด หูจะตั้ง หันไปทางทิศที่มาของเสียง หางจะทอดไปข้างหน้า มีลักษณะโค้งเหมือนดาบ จัดอยู่ในประเภทสวยงาม เพราะมีลักษณะผิดไปจากสุนัขอื่นๆ ตรงที่มีอาน นอกจากนั้นยังเลี้ยงไว้เ้ฝ้าบ้าน และเป็นเพื่อนได้ดีอีกด้วย

ลักษณะมาตรฐาน
ลักษณะมาตรฐานของสุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน ตามที่สมาคมผู้นิยมเลี้ยงสุนัขแห่งประเทศไทยได้ขอจดทะเบียนไว้กับสหพันธุ์สุนัขแห่งเอเชีย และสมาคมสุนัขโลกมีดังนี้

ส่วนหัว: ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้ หัว, หู, ตา, จมูก, ปาก และฟัน ลักษณะของหัวจะเป็นรูปลิ่ม หน้าผากกว้าง กรามใหญ่ ปากมนไม่แหลม มุมปากลึก ริมปากปิดสนิทพอดีกับกราม บริเวณปากจะมีสีดำหรือที่เรียกว่าปากมอม ในสุนัขหลังอานสีน้ำตาลส่วนใหญ่ปากจะมอม สีอื่นๆ อาจจะปากมอมหรือไม่มอมก็ได้ ฟันขาวสะอาดเป็นระเบียบ ฟันบนขบชิดแนบสนิทกับฟันล่าง ฟันบนควรมี 20 ซี่ ฟันล่างมี 22 ซี่ เขี้ยวแหลมมี 4 ซี่ ขบกันสนิท ตาค่อนข้างเรียวเล็ก แหลม รับพอดีกับหน้าผาก สีของดวงตากลมกลืนกับสีของลำตัว และแววตาเป็นประกายน่าเกรงขาม เวลาจับจ้องคนแปลกหน้าจะเห็นความไม่ไว้วางใจปรากฎในแววตา ทำให้เกิดความน่ากลัว จมูกใหญ่เป็นสีดำสนิท สันจมูกกว้าง ลิ้นต้องมีปานสีดำ หน้าผาก และดั้งจมูงยื่นตรงขนานกันและกัน หูทั้งสองข้างเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม หรือหูรูปกรวย มีขนาดพอดี ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ไม่หลุบหรือตูบไปข้างหน้า หูไม่ชิดหรือห่างเกินไป ระหว่างหูทั้งสองมีลักษณะเป็นเส้นตรง ไม่นูน หรือแอ่นตรงกลาง และหูต้องตั้งตรงรับพอดีกับส่วนหัว

คอ: ต้องตั้งตรงและแข็งแรง ไม่ยาวและหนาจนเกินไป มีขนาดพอดีกับลำตัวและส่วนหัว คอส่วนล่างโค้งรับกับอก และลำตัว เหนียงคอต้องไม่ยานเหมือนเหนียงวัว คอต้องเิชิดทำให้สุนัขดูสง่างาม

ลำตัว: ควรมีลักษณะสมส่วน กล่าวคือ ลำตัวต้องมีกล้ามเนื้อคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดของลำตัวเมื่อวัดความยาวและส่วนสูงของลำตัวแล้วจะต้องไม่ยาวกว่าส่วนสูงเกิน 1 นิ้ว หรือที่นักเลงเลี้ยงสุนัขเรียกว่า 10 ต่อ 9 โดยความยาวของลำตัววัดจากส่วนอกด้านหน้าถึงสะโพกด้านท้าย ส่วนความสูงวัดจากหัวไหล่ด้านหน้าถึงปลายเท้าด้านหน้า ไหล่ต้องผึ่งผาย ลำตัวควรจะเพรียวลม เวลาเดิน หรือวิ่งสันหลังจะตรงเสมอกันไม่แอ่นเอียงลาดจากโหนกไหล่ลงสู่ส่วนท้าย

อก: เมื่อมองจากด้านข้างในขณะที่สุนัขยืน จะเห็นว่าอกไม่ใหญ่มากนักแต่อกจะลึก ความลึกของอกมีประมาณ 50 ส่วนของความสูงทั้งหมด กล่าวคือ อกจะลึกมากถึงระดับข้อศอกของขาหน้า ทำให้ปอดและหัวใจใหญ่เวลาวิ่งจะเหนื่อยช้า

ท้องและเอว: ท้องกว้างโค้งและคอดกิ่วไปถึงบริเวณเอว ส่วนเอวจะเล็กและคอดทำให้กระโดดได้สูงและไกล วิ่งได้เร็ว

ขา เท้า และเล็บ: ขาหน้าควรเหยียดตรง และขนานกัน ขาไม่โก่งงอ หรือคดปลายและไม่แบะออกข้าง ข้อศอกกระชับแนบกับลำตัว ช่องว่างระหว่างขาหน้าทั้งสองกว่าง ขาหลังมีกล้ามเนื้อขึ้นเป็นมัดมองเห็นได้ชัดเจน โดยขาหลังสั้นกว่าขาหน้า เวลายืนขาหลังจะเฉียงไปข้างหลังเล็กน้อย และกางออกจากกันเป็นฐานที่มั่นคง ขาไม่ควรตึงเป็นเส้นตรง ควรมีข้อเข่าและมีน่องที่ย่อลงเล็กน้อย ทำให้เกิดมีแรงส่งในการวิ่ง ก้าวได้ยาว และทำให้ส่วนท้ายย่อลง ช่องว่างระหว่างขาคู่หน้าและขาคู่หลังควรจะสัมพันธ์ หรือได้สัดส่วนกับความสูงของลำตัว ถ้าตัวยาวบั้นท้ายจะแกว่งและขาจะสั้นไม่ได้สัดส่วน ดังนั้นลักษณะที่ดีในขณะเดิน คือ หัวตั้งเชิด ขาไม่แบะ ในส่วนของเท้าและเล็บ เท้าหน้ามี 5 นิ้ว เท้าหลังมี 4 นิ้ว ต้องไม่มีนิ้วติ่ง ถ้ามติ่งต้องตัดออก อุ้งเท้าควรหนาและใหญ่ ค่อนข้างกลม นิ้วจิกงุ้ม ดูแน่นไม่แผ่ออก ดูกลมเหมือนเท้าสิงห์เวลาเดินหรือยืน นิ้วเท้าจะกางออกจากกันเล็กน้อย เพราะระหว่างนิ้วเท้าจะมีหนังที่ยืดออกได้ เล็กเท้าควรมีสีดำหรือกลมกลืนกับสีของขน และควรเป็นสีเดียวกันทั้งหมดทุกเล็ก

หาง: หางที่ดีขณะที่ยืนหางจะต้องตั้งชี้ขึ้น และโค้งเรียวเหมือนดาบ ตั้งตรงกับแนวสันหลัง ตรงปลายหางอาจเป็นสีดำ กระดูกหางมีระหว่าง 16-20 ข้อ ควรจะมีหางที่ยาวเลยข้อศอกของขาหลังเล็กน้อย ดูแล้วสมตัว ถ้าหางงอขดม้วนติดหลัง หรือหางงอจนปลายหางจรดหลัง หรือหางไม่ชี้โค้ง หรือบิดเบี้ยว บิดงอ ถือว่าไม่สวย และใช้ไม่ได้เมื่อเดิน หรือวิ่งหางไม่ควรแกว่งมากเกินไป

หนังและขน: หนังควรจะหนาดีกว่าหนังบาง จะทำให้ทนทานต่อการขีดข่วนได้ดี ทดสอบได้โดยใช้มือกำหนังทางด้านต้นคอ หรือที่หลังขึ้นมา ถ้ากำได้เต็มอุ้งมือและย่นตามมือแสดงว่ามีหนังหนา ถ้าหนังไม่หนาจะไม่ค่อยอดทน ขนของสุนัขไทยหลังอานจะสั้นเกรียน เรียบและแน่นหนาเป็นระเบียบ ผิวหนังอ่อนนิ่ม มีทั้งขนที่สั้นแต่ไม่เกรียนติดหนัง และขนสั้นแน่นเรียบติดหนัง เรียกว่าขนกำมะหยี่ ซึ่งขนกำมะหยี่นี้จะมีราคาแพงกว่า อย่างไรก็ตามลักษณะขนเมื่อดูแล้วจะต้องเรียบสั้น เป็นเงางามยาวขนาดขนม้าก็เรียกว่าเพียงอด ถ้าสั้นมากเป็นกำมะหยี่จะเป็นโรคหนังได้ง่าย

สีของขน: สุนัขไทยหลังอานมีอยู่หลายสี ไม่จำกัดลงไปว่าสีใดสำคัญกว่าสีใดสีหนึ่ง ไม่จำกัดลงไปว่าสีใดเป็นพันธุ์แท้เพียงสีเดียว ขึ้นอยู่เพียงแต่ว่าสีใดหาได้ยากง่ายกว่ากันแล้วแต่ค่านิยม แต่ที่สำคัญต้องเป้นสีเดียวตลอดตัว และมีอานใหญ่ สีที่ถูกต้องคือสีน้ำตาลแดง แต่ขนสีที่หาได้ยากคือสีสวาด ถ้ามีอานใหญ่ก็นับว่าเป็นชั้นหนึ่ง ปัจจุบันนิยมสีอื่นเพิ่มขึ้น เท่าที่พบก็มี สีดำ สีกลีบบัว สีขาว สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลดำ ที่สำคัญคือควรเ็นสีเดียวกันตลอดทั้งตัว ถ้าอกสีขาวจัดว่าเป็นลักษณะที่ไม่ดี

อาน: อานนี้เกิดจากขวัญที่สันหลัง โดยอานเริ่มตั้งแต่ที่ริมกระดูกสันหลังใต้ไหล่ทั้งสองลงไปเล็กน้อย ขนชี้กลับไปทางหัวรวมกันเป็นดวงกลมใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางราว 2-5 ซม. หรือใหญ่กว่านั้น แล้วเรียวเล็กลงเรื่อยๆ ดุจปลายแซ่จนเกือบจรดถึงโหนกกระดูกขาหลัง ขนที่เป็นขวัญ และที่เรียวลงนี้เป็นขนกลับย้อนจากขนธรรมดาของสุนัข รวมกันยกขึ้นเป็นแนวเป็นสันสูง เห็ได้ทันทีว่าผิดกับสุนัขธรรมดา บางตัวขนหลังมีขวัญมากกว่า 4-5 ขวัญก็มี ขวัญยิ่งมาก ยิ่งทำให้เส้นขนกลับบนหลังใหญ่ขึ้น แต่คงเรียวเล็กเป็นปลายแซ่ตามหลังไปทางหางอ่างสองขวัญสำหรับอานก็ีมีหลายรูปแบบแล้วแต่จะเรียกกัน เช่น อานธนู หรืออานลูกศร อานแผ่น อานกีต้า และอานใบโพธิ์ หรืออานม้า

ขนาด: ตัวผู้เต็มที่หนักประมาณ 25-28 กก. สูงวัดจากปลายเท้าถึงหัวไหล่ 24-26 นิ้ว ตัวเมียหนักประมาณ 22-25 กก. สูง 22-24 นิ้ว

อุปนิสัย: สุนัขไทยหลังอานนี้มีความเฉลียวฉลาดและความจำดีเป็นเลิศ มีไหวพริบดี ทั้งยังมีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อเจ้านายเป็นอย่างยิ่ง แม้จะเฆี่ยนตี ทรมานให้อดอยาก ก็มักจะกระดิกหางเข้ามาหมอบแทบเท้าเสมอ ไม่ถึือโกรธอาฆาต และไม่คลายความจงรักภักดีต่อเจ้าของ เหมาะที่จะใช้ในการเฝ้าทรัพย์สิน บ้านช่อง เพราะไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้า มีสัญชาติญาณในการล่า และมีความสามารถในการยังชีพสูง ไม่ค่อยชอบอยู่ในบังคับ กฎเกณฑ์ หรือถูกบังคับ นอกจากฝึกหัดให้เคยชินแต่เล็ก

No comments:

Post a Comment