2009-05-31

การผสมพันธุ์สุนัข ไทยหลังอาน

ความมุ่งหมายของนักเพาะสัตว์เลี้ยงก็คือ การส่งเสริมคุณภาพของสัตว์เลี้อยงและส่งเสริมต่อไปไม่เฉพาะรูปลักษณะ แต่รวมทั้งอุปนิสัยใจคอและการขยายพันธุ์ของมันด้วย ดังนั้นการผสมพันธุ์หมาหมายถึง การนำเอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาผสมกัน จะโดยวิธีธรรมชาติหรือการผสมเทียมก็ตาม แล้วเกิดลูกหมาออกมาความพยายามในการผสมพันธุ์หมาไทยหรือ การพยายามที่จะรักษาลักษณะพันธุ์แท้และพัฒนาลักษณะที่ดีจากพ่อแม่ให้ถ่ายทอดไปยังลูก ดังนั้นขั้นตอนสำคัญ คือการคัดเลือกและศึกษาข้อเด่น ข้อด้อย ของหมาที่จะนำมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

การคัดพันธุ์หมาไทยที่จะนำมาผสมพันธุ์ทั้งเพศผู้และเพศเมียต้องมีคุณสมบัติที่ดีครบถ้วนเพื่อพัฒนาพันธุ์และสายเลือดที่ดีสิ่งที่ควรพิจารณาคือ ลักษณะของพ่อแม่พันธุ์ที่จะนำมาผสม ซึ่งต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์มาประกอบในการผสมพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่ต้องการออกมามีอัตราสูง เนื่องจากการคัดพันธุ์ุ์จนได้พ่อแม่ที่สามารถถ่ายทอดลักษณะที่ต้องการมากที่สุดและมีลักษณะที่ไม่ต้องการน้อยที่สุดวิธีการง่ายๆก็คือ คัดตัวทีมีรูปร่างลักษณะที่ดีนำมาผสมพันธุ์กันหลายๆ สายพันธุ์(ครอก)แล้วเอาลูกหลานที่มีลักษณะที่ต้องการมาผสมกันอีกจนได้ลูกที่มีลักษณะคงที่แน่นอน ไม่มีลักษณะอื่นที่ไม่ต้องการออกมามากนักถือว่าได้สายพันธุ์ที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ พ่อแม่พันธุ์ที่ว่านี้จะถ่ายทอดลักษณะที่พึงต้องการเป็นเปอร์เซ็นต์สูง ดังนั้น การคัดพันธุ์หมาไทยสำหรับนำมาผสมพันธุ์จำเป็นต้องทราบถึงประวัติความเป็นมาอย่างละเอียดของพ่อแม่ปู่ย่า ตายายนอกจากนี้ยังต้องการทราบถึง วัน เดือน ปีเกิด สี ขนาดรูปร่างชื่อและที่อยู่ของเจ้าของเดิม ในต่างประเทศจะมีแหล่งข้อมูลทางพันธุกรรมของหมา ซึ่งบอกลักษณะรายละเอียดทั้งหมดไว้ในคอมพิวเตอร์ เมื่อมีแม่พันธุ์ไปผสมก็สามารถเลือกได้ หรือบอกได้ดีตามต้องการ สำหรับในประเทศไทยเรานั้นยังไม่ค่อยมีระเบียบในเรื่องดังกล่าวข้างต้นมากนัก เพียงแต่ใช้ความเชื่อถือระหว่างเจ้าของเดิมและเจ้าของใหม่เท่านั้นพ่อแม่พันธุ์ หมาที่เป็นพันธุ์แท้ เมื่อคัดพันธุ์มาผสมส่วนใหญ่ก็จะได้ลูกออกมาตรงตามพันธุ์ แต่บางครั้งลูกที่ออกมาก็อาจมีส่วนที่ไม่ดีแฝงอยู่ ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องหาจุดอ่อนโดยการพิจารณาคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ตัวอื่นที่มีลักษณะเด่นมาเสริมหรือแก้ไขต้องรู้ถึงข้อเด่นและข้อด้อยของพันธุ์ และตั้งวัตถุประสงค์เพื่อแก้ข้อด้อยหาข้อเด่น เช่น ถ้าพ่อพันธุ์มีอานสวย สีสวย แต่หูไม่สวย แม่พันธุ์รูปร่างดี หูสวย แต่อานไม่สวย มื่อผสมกันแล้วลูกที่ออกมาก็ย่อมดึงลักษณะเด่นของพ่อและแม่ออกมา แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ ไม่ควรผสมพันธุ์ระหว่างหมาที่มีสายเลือดใกล้ชิดกัน เช่น พ่อหรือแม่กับลูก หรือพี่กับน้องท้องเดียวกันที่เร้ยกว่าการผสมในสายสัมพันธุ์ เพราะจะทำให้ลูกที่เกิดขึ้นรวมเอาสิ่งที่ไม่ดีจากสายเลือดให้มีมากขึ้น เช่น โรคต่างๆ ความไม่สมบูรณ์ของอวัยวะต่างๆ เป็นต้น

หมาตัวผู้จะแสดงอาการกระตือรือร้นในเรื่องเพศเมื่ออายุประมาณ 6-8 เดือน แต่ควรรอให้โตเต็มที่ คือมีอายุประมาณ 1 ปีีขึ้นไป โดยเฉลี่ยจะถึอว่าหมาโตเต็มที่เมื่อมีอายุ 12-18 เดือนหมาที่จะนำมาผสมนั้นควรมีอายุอย่างน้อย 12 เดือนขึ้นไปถึงจะเหมาะสม ทั้งนี้เพราะต่อมผลิตฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายมีการทำงานอย่างเต็มที่ เวลาตั้งท้องฮอร์โมนเหล่านี้จะมีบทบาทในการควบคุมกลไกการทำงานของร่างกาย ถ้าผสมพันธุ์กันตั้งแต่อายุยังน้อยลูกที่เกิดมาจะไม่สมบูรณ์ อ่อนแอ ติดโรคง่ายและเลี้ยงยาก

การจัดการก่อนผสมพันธุ์ ช่วงก่อนการผสมพันธุ์จำเป็นต้องได้มีการเลี้ยงดูเป็นพิเศษ เพราะช่วงนี้มีความสำคัญและมีบทบาทไม่น้อย ถึงแม้จะได้คัดสายพันธุ์ดีแล้วก็ตาม แต่ถ้าการเลี้ยงดูไม่ดีพอหมาก็จะไม่สมบูรณ์ ศัพท์ในวงการนักเลี้ยงจะใช้คำว่า “น้ำเลี้ยงไม่ดี หรือน้ำเลี้ยงสู้กันไม่ได้” หลักทั่วไปในการที่จะเลี้ยงหมาให้สมบูรณ์พร้อมที่จะได้รับการผสมพันธุ์ก็คือ
  1. ควรบำรุงพ่อพันธุ์ให้กันอาหารที่มีโปรตีนมากๆ เช่น เนื้อหรือไข่ และต้องให้ออกกำลังสม่ำเสมอ เพื่อให้แข็งแรงและมีเชื้อที่แข็งแรงด้วย
  2. แม่พันธุ์ที่จะทำการผสมควรมีสุขภาพดี การเลี้ยงดูแม่พันธุ์มีความสำคัญมาก ความสมบูรณ์ของแม่จะมีผลโดยตรงต่อลูก จึงควรบำรุงแม่พันธุ์ให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีนวิตามินและเกลือแร่ แต่ไม่ควรให้อ้วนจนเกินไป
  3. ควรถ่ายพยาธิก่อนการผสมพันธุ์ประมาณ 1 เดือนเพราะอาจมีตัวอ่อนของพยาธิบางชนิคติดต่อไปถึงลูกในครรภ์ได้
  4. นำหมาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ เช่น โรคดิสเทมเปอร์ พาร์โวไวรัส โรคตับอักเสบ ควรไปฉีดวัคซีนตามกำหนดเวลาอย่างสม่ำเสมอก่อนการผสมพันธุ์ การฉีดวัคซีนในระยะเวลาที่เหมาะสมนี้จะเกิดภูมิคุ้มกันโรค และภูมิคุ้มกันนี้บางส่วนสามารถถ่ายทอดไปสู่ลูกหมาได้ ซึ่งจะพบว่าแม่หมาที่ฉีดวัคซีนแล้วเมื่อลูกออกมามักจะรอดตายจากโรคที่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน ข้อควรระวังก็คือ ไม่ควรฉีดวัคซีนให้กับแม่หมาในขณะที่เป็นสัด เพราะวัคซีนบางชนิดมีผลทำให้ติดลูกยากจึงควรฉีดวัคซีนตามที่สัตว์แพทย์แนะนำ
  5. จัดเตรียมสถานที่คลอด ควรเป็นห้องที่กันแดดกันฝนได้ดีและไม่มีสิ่งรบกวน พื้นห้องต้องสะอาด ปูด้วยเศษผ้าหรือกระสอบเพื่อให้ความอบอุ่น

วิธีการผสมพันธุ์


ตามปกติหมาตัวเมียเป็นสัดปีละ 2 ครั้งหรือทุกๆ 6 เดือน ระยะที่เป็นสัดประมาณ 20-21 วัน และในช่วงระหว่างนี้เท่านั้นที่มันจะยอมรับการผสมพันธุ์จากตัวผู้
  • ระยะที่ 1ใน 9 วันแรก แม่พันธุ์เพียงแต่แสดงอาการเป็นสัดอวัยวะเพศบวมขยายใหญ่ อาจเห็นว่าหมาตัวผู้ให้ความสนใจมากกว่าปกติ แต่แม่พันธุ์จะยังไม่ยอมให้พ่อพันธุ์ผสม
  • ระยะที่ 2 ใน 9 วันหลังจากระยะที่ 1 แม่พันธุ์จะมีหยดเลือดออกมาจากอวัยวะเพศ มีอาการชอบเล่นกับตัวผู้ อวัยวะเพศขยายใหญ่เต็มที่ มักจะยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์ เป็นระยะที่มีไข่ตกออกจากรังไข่ ดังนั้นจึงควรผสมพันธุ์ในระยะที่ 2 นี้ วันที่เหมาะในการผสมพันธุ์ควรจะอยู่ในระหว่างวันที่ 10-13 หลังจากแม่พันธุ์เป็นสัดทำเพียงครั้งเดียวก็พอ แต่ส่วนมากจะผสมสองครั้งเพื่อให้ได้ผลแน่นอน ผสมในตอนเย็นของวันที่ 10 หนึ่งครั้ง และเช้าของวันที่ 13 อีกหนึ่งครั้งเพราะในช่วงนี้จะเป็นระยะที่ไข่สุกพร้อมที่จะรับเชื้อตัวผู้ปกตินิยมให้พ่อพันธุ์ผสมในช่วงหลังอาาหารเช้าและหลังอาหารเย็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวมีอากาศเย็นสบาย การผสมต้องปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์เป็นอิสระไม่ต้องใช้สายล่าม บริเวณที่ี่ผสมพันธุ์ต้องเป็นที่กว้างพอสมควร ปล่อยให้พ่อแม่พันธุ์สร้างความคุ้นเคยสนิทสนมกันเสียก่อน จะผสมกันเองตามธรรมชาติ แต่อย่าปล่อยให้พ่อพันธุ์ผสมกันบ่อยครั้งมากเกินไปเพราะจะทำให้ร่างกายทรุดโทรมได้ผสมเสร็จแล้วจึงนำกลับไปให้พักผ่อน ระยะเวลาที่เหลืออีก 3 วันแม่พันธุ์จะมีอวัยวะเพศกลับสู่สภาพเดิมหรือหมดสัด แม่พันธุ์จะไม่ยอมรับการผสมอีก


กว่าจะเกิดออกมาเป็นสุนัขไทยหลังอาน

ก่อนอื่นเราจะต้องรู้เสียก่อนหมาตั้งท้องอยู่ประมาณ 2 เดือน หรือ 60-62 วัน ฉะนั้นเมื่อก่อนคลอดหรือใกล้คลอดมากๆ นี่ อุณหภูมิของหมาซึ่งปกติราวประมาณ 38.5 องศาเซลเซียส จะลดลงและก่อนคลอด 24 ชั่วโมง อาจมีน้ำเมือกสีขาวขุ่นไหลออกมาจากปากช่องคลอก ก็จะเข้าสู่ระยะเบ่งคลอดต่อไป
ระยะเบ่งคลอดลูกของหมานั้นสามารถแบ่งออกได้ 3 ระยะดังต่อไปนี้

การเบ่งระยะแรก

การเบ่งระยะเรี่มต้นนี้กินเวลา 6- 12 ชั่วโมง บางครั้งบางคราวอาจถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งมักเกิดกับแม่หมาสาวท้องแรกเสมอๆ แม่หมาจะแสดงอาการกระสับกระส่ายเบื่อจนถึงไม่กินอาหาร อาเจียน สั่น เสาะหาสถานที่หรือบริเวณคลอดลูก อาจขุดคุ้ยพื้นเพื่อทำรัง และนั้งๆ นอนๆ พลิกไปมาเพื่อหาความสบายและคงตรวจดูว่าเหมาะสมกับการคลอดลูกหรือไม่นั่นเอง มีบางตัวพยายามหาที่หลบซุกซ่อนตามใต้ตู้เตียงด้วยสัณชาตญาณปกป้องลูกที่กำลังจะออกมาจากศัตรูนั่นเอง อาจมีปัสสาวะกะปริดกะปรอยเล็กน้อย ขณะนี้อาจมีการเบ่งและเกร็งตัวของมดลูกเป็นระยะๆ แต่ไม่รุนแรงนัก มองดูไม่มีความผิดปกติแต่ประการใด

การเเบ่งระยะที่สอง

การเริ่มรุนแรงและเห็นเด่นชัดขึ้น ใช้เวลาราวประมาณ 15-30 นาที เราจะเห็นถุงน้ำคร่ำผลุดโป่งออกมาทางปากช่องคลอดคล้ายลูกโป่งแล้วแตกออก ของเหลวภายในจะไหลออกมาเพื่อการหล่อลื่นให้ตัวลูกหมาเคลื่อนผ่านออกอย่างสะดวก จากนั้นลูกหมาจึงโผ่ลออกมา โดยปกติแล้วหัวออกมาก่อนเสมอ แม่หมาเริ่มเลียเยื่อหุ้มตัวลูกและกัดสายสะดือ รวมถึงการเลียเพื่อทำความสะอาดตัวลูกและตัวแม่เองด้วย การที่แม่หมากินรก เยื่อหุ้มต่างๆ หรือแม้แต่ตัวลูกที่ตายแล้วเข้าไปนั้นไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายต่อตัวเขาเลย กลับเป็นการกระตุ้นให้แสดงความเป็าแม่และเลี้ยงดูลูกออกมาตามธรรมชาติ

ดังนั้นการรบกวนหมาขณะกำลังคลอดลูกโดยพยายามช่วยทุกๆ ทาง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความจำเป็นนั้น ถือเป็นอันตรายและไม่พึงกระทำอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นการสร้างความรบกวน หวาดระแวงแก่แม่หมาจนถึงกับกัดกินลูกหรือหยุดการเบ่งได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับหมาบางตัวที่ต้องการความอบอุ่นและกำลังใจจากเจ้าของตลอดเวลาที่เบ่งคลอด แต่ก็มีเป็นจำนวนน้อย บางคนอนามัยจัดกลัวความสกปรกเลยเอาน้ำยาฆ่าเชื้อไปเช็ด ตัวลูกอ่อน ตัวแม่ หรือพื้นบ้าง แม่หมารู้สึกผิดปรกติหรือผิดกลิ่น อาจพาลเลิกเบ่งและย้ายที่คลอดได้ ซึ่งไม่เป็นการดีเลย

การเเบ่งระยะที่สาม

แม่หมาจะหยุดพักการเบ่งหลังจากคลอดลูกแต่ละตัวประมาณ 15-30 นาที ทั้งนี้ขึ้นกับความเหนื่อยอ่อนและความล้าของกล้ามเนื้อมดลูกจนถึงจำนวนลูกด้วย ลูกมากเบ่งมากก้เหนื่อยล้ามาก ยิ่งตัวท้ายๆ แล้วการเบ่งย่อมลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ หลังจากคลอดลูกจนหมดแล้วแม่หมาจะนอนพักให้ลูกดูดนมและเลียทำความสะอาดทั้งลูกและตัวเอง เป็นไงครับกว่าจะเกิดออกมาเป็นลูกหมาแต่ละตัว ยากเย็นแสนเข็ญเอาการอยู่นะครับ


การดูแลสุนัขไทยหลังอานแรกเกิด

หลังจากแม่สุนัขคลอด น้ำนมของแม่สุนัขในช่วง 2-3 วันแรก จะช่วยให้ลูกสุนัขมีภูมิคุ้มกันไปจนถึง 6-10 สัปดาห์แรก เราจะต้องเป็นคนคอยดูว่า ลูกสุนัขทุกตัวได้รับน้ำนมเพียงพอหรือไม่ หลังจากนั้นเราจะต้องเริ่มให้ลูกสุนัขกินอาหารอ่อนๆ และค่อยๆ เริ่มให้ลูกสุนัขหย่านม ในลูกสุนัขแรกเกิด ตาของมันจะยังคงมองไม่เห็น และหูก็ยังคงไม่ได้ยิน จนกระทั่งอายุได้ประมาน 10-14 วัน และใช้เวลาอีก 7 วัน ในการปรับสายตาให้เรียบร้อย และหูก็เริ่มรับเสียงได้ เมื่อท่อฟังช่องหูเริ่มเปิดตอนลูกสุนัขอายุประมาณ 13-17 วัน
การนอนหลับพักผ่อน ในลุกสุนัขสามารถนอนหลับได้ทั้งวัน ลูกสุนัขจะนอนแล้วตื่นขึ้นมาดูดนมแม่ช่วงสัปดาห์แรก หลังจากนั้นมันก็เริ่มมีกิจกรรมสำรวจสิ่งแวดล้อมในที่อยู่ของมันจนกระทั่งอายุ 12-14 สัปดาห์
ลูกสุนัขต้องการความอบอุ่น ลูกสุนัขขณะอยู่ในท้องแม่ของมันมีอุณหภูมิ 38.5 องศาเซสเซียส อุณหภูมินี้จะลดลงก่อนมันจะตกลูก ลูกสุนัขออกจากท้องแม่ใหม่ๆ จะหนาวสั่นง่าย ซึ่งถ้าเราไม่ตอยดูแลก็อาจจะมีการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ อุณหภูมิในร่างกายของลูกสุนัขจะปรับตัวขึ้นลงตามสิ่งแวดล้อม หลังเกิดได้ 6-7 วัน ลูกสุนัขจะรู้จักวิธีการควบคุมระบบทำความร้อน แต่ก็ยังไม่ดีนัก จนกว่าจะอายุได้ 4 สัปดาห์ ในช่วง 2สัปดาห์แรก ถึงแม้ว่ามันจะนอนอยู่กับแม่ของมันและ ถ้าอยู่กับแม่ของมัน เราอาจต้องใช้ความร้อนเสริมไปนานกว่า 2 สัปดาห์ อุณหภูมิที่เหมาะสมของมันควรอยู่ที่ 30 องศาเซสเซียส หรือลดลงได้อีก 3 องศาเซสเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำควรหาไฟหรือถุงน้ำร้อนวางให้ลูกสุนัขนอนทับแต่ต้องระมัดระวังอย่าให้ลูกสุนัขรับความร้อนโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวหนังเป็นอันตรายได้

การสังเกตลูกสุนัขที่ไม่แข็งแรง ลูกสุนัขที่แข็งแรงจะมีขนที่มันเงางาม และเวลาเราอุ้มมันขึ้นมาจะกระดุ๊กกระดิ๊ก ขณะที่ลูกนุนัขที่ไม่แข็งแรงและขาแขนจะไม่แข็งแรง ลูกสุนัขที่แข็งแรงจะทำเสียงร้องเบาๆ และจะโหยหวนถ้าหิว ลูกสุนัขที่ไม่แข็งแรงจะคลานไปมาและส่งเสียงหมดแรงแบบเบาๆ และก็จะกลับไปนอนหมดสติที่ที่นอนของมัน

การให้อาหารและการหย่านม ลูกสุนัขจะกินนมแม่ไปจนราว 3-5 สัปดาห์ ในระยะนี้เราเริ่มให้นมอย่างอื่นแก่ลูกสุนัข เอาใส่จานให้เขาเลียได้แล้ว วิธีการหย่านมในลูกสุนัขก็คือ เอาอาหารเด็กมาผสมกับนมและค่อยจับใส่ปากลูกสุนัข เมื่อเริ่มทำสักวันสองวัน โดยใช้มือเราแล้วค่อยๆ เปลี่ยนมาใส่จาน วันละ 2 ครั้ง และเริ่มต้นให้เนื้อเสริมด้วยแคลเซียมเม็ดหรือกระดูกอ่อน อาหารลูกสุนัขแบบกระป๋องจะช่วยได้ดีในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะอาหารกระป๋องลูกสุนัขสามารถกินได้ง่ายโดยให้แต่น้อยแต่่บ่อยครั้ง เมื่อน้ำนมแม่เริ่มหมดไปจะต้องให้อาหารลูกสุนัขด้วยตัวของเราเองเพิ่มขึ้นๆ ลูกสุนัขจะต้องกินอาหารบ่อยเช่นเดียวกับเด็กเล็กๆ เพื่อความเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ถ้าแม่สุนัขยังมีน้ำนมเพียงพอเราก็ไม่ต้องเสริม ให้ มาเริ่มราวสัปดาห์ที่ 5 ก็ได้ ในระยะเวลา 7-12 สัปดาห์ ควรให้อาหารกระป๋องสำหรับสุนัข และนมอย่างน้อยที่สุดวันละ 4 ครั้ง พอลูกสุนัขอายุได้ 12 สัปดาห์ ลูกสุนัขจะกินน้อยลงเอง ก็ไม่จำเป็นต้องให้นม ให้อาหารสุนัขวันละครั้ง 3-4 จนสุนัขอายุถึง 6 เดือน หลังจากนั้นจะกินอาหารสองครั้งหรือหนึ่งครั้งก็แล้วแต่กรณี

No comments:

Post a Comment