2009-05-30

ข้อบัญญัติ 7 ประการ คู่มือการประกวดสุนัขบางแก้วพิษณุโลก

การตัดสินการประกวดสุนัขบางแก้วในการประกวดสุนัขบางแก้ว เจ้าของสุนัขหลายท่านมีความเห็นคัดค้านการตัดสินของกรรมการ และกรรมการตัดสินการประกวดแต่ละสนามก็ตัดสินไม่เหมือนกัน ในเรื่องเจ้าของสุนัขและกรรมการมีความแตกต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะว่าเจ้าของสุนัขก็บอกว่าสุนัขของตัวเองสวย ส่วนกรรมการก็มีความเห็นเป็นกลางบอกว่าสุนัขตัวอื่นสวยกว่า ดังนั้นเพื่อให้ผู้เลี้ยงสุนัขได้ทราบถึงหลักเกณฑ์การตัดสินการประกวดและกรรมการที่ตัดสินได้ยืดหลักการตัดสิน จึงมีข้อแนะนำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการเลี้ยงสุนัขบางแก้ว ดังนี้

ข้อควรรู้หรือบัญญัติ 7 ประการ ก่อนตัดสินการประกวดสุนัขบางแก้ว

1. มาตรฐานพันธุ์ เมื่อสมาคมหรือชมรมประกาศมาตรฐานพันธุ์สุนัขบางแก้วออกมา ให้ยืดถือมาตรฐานพันธุ์นั้นเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ที่ผ่านมาก็ต้องยืดมาตรฐานพันธุ์ที่สำนังานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกได้ประกาศไว้ เมื่อปี 2542 ซึ่งเป็นมาตรฐานพันธุ์ของสุนัขบางแก้วสีรวม คือ สีขาว-น้ำตาล, ขาว-ดำ และสีอื่นๆ ดังนั้นการตัดสินกรรมการจึงต้องใช้มาตรฐานพันธุ์เป็นคู่มือหรือคัมภีร์ บางครั้งมีสุนัขเข้าประกวดเพียง 1 - 2 ตัว ก็สามารถตัดสินได้

2. สีของสุนัขบางแก้ว ในขณะนี้ในท้องตลาดจะพบว่านิยมเลี้ยงกันอยู่ 3 สี คือ ขาว-น้ำตาล, ขาว-ดำ, และบางแก้ว 3 สี คือ ขาว-น้ำตาล-ดำ หรือ บางตัวจะเป็นสีดำออกเทาๆ ในขณะที่สุนัขบางแก้วได้พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับดังนี้
2.1 ขาว-น้ำตาล ไ ด้รับการพัฒนาสายเลือดมาก่อนสีอื่น เป็นที่ยอมรับของผู้เลี้ยงโดยทั่วๆ ไป และมีผู้เลี้ยงมากที่สุดในขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและใกล้เคียง
2.2 ขาว-ดำ ในขณะนี้พบในท้องตลาดและผู้เลี้ยงเข้าประกวดลดลง เป็นสุนัขที่มีรูปร่างสวยงาม โดยเฉพาะจะพบว่าขนของสุนัขขาว-ดำจะยาวฟู และมักจะพบเสมอว่าสีดำจุดกระเล็กๆ ในบริเวณพื้นสีขาว และพบมากที่ขาหน้าทั้งสองข้าง ถ้าหากผู้เลี้ยงได้พัฒนาต่อไป เชื่อว่าจุดกระสีดำจะหมดไป สุนัขบางแก้วขาว-ดำ ที่โด่งดังมากที่สุดเป็นพ่อพันธุ์ชื่อ “กี้” ของหมู่บ้านชุมแสงสงคราม หมู่ที่ 2 ได้รับรางวัลที่ 1 เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เป็นที่นิยมของผู้เลี้ยงถึงขนาดลูกหลานของกี้ออกมามีผู้แย่งซื้อกันมาก
2.3 ขาว-เทา บางครั้งเรียกว่าบางแก้ว 3 สี เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วจังหวัดพิษณุโลกได้ตัดสินประกวดสุนัขบางแก้วออกมาตัวหนึ่งเป็นสีขาว-เทา เพศผู้ ขนาดเล็กได้ืที่ 3 จำชื่อเจ้าของไม่ได้ ต่อมามีผู้ซื้อมาพัฒนาพันธุ์ในเมืองพิษณุโลกพัฒนาออกมาในสายของ “โอเล่” เนื่องจากมีสีขาว-เทา เพศผู้เพียงตัวเดียว พัฒนาอย่างไรก็ไม่ขึ้น คือ คงความเป็นสีขาว-เทา สองสีอยู่ไม่ได้ จึงได้มีการนำเอาสุนัขบางแก้วขาว-น้ำตาลมาผสมกับสีขาว-ดำ จึงได้สุนัขออกมาสามสี และพบว่าบางตัวจะมีสีเทาแก่จนเป็นสีดำไป จึงน่าเรียกว่าเป็นสุนัขบางแก้วสามสีจะดีกว่า หากพัฒนาเช่นนี้จะไม่ได้สายเลือดนิ่ง คือ จะกำหนดบริเวณของสีหรือขนาดของสี (marking) ไม่ได้แน่นอน สุนัขสีนี้ที่กรุงเทพฯ เป็นที่นิยมเลี้ยงมาก อาจจะเคยประกวดได้ที่ 1 และปั่นราคากันแถมโฆษณาขวนเชื่อว่าเป็นต้นตระกูลของสุนัขบางแก้วเสียอีก ถ้าเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จะทำให้ผู้เลี้ยงเกิดความเบื่อหน่ายดังเช่นสุนัขไทยหลังอาน เพราะมีความมักง่ายไปปั่นราคาสุนัขหลังอานขนกำมะหยี่ ต่อมาก็ไปไม่รอดไม่พบเห็นขนกำมะหยี่ของผู้เลี้ยงเลย เพราะว่าเป็นขนเกรียนสั้นมากไม่เหมาะสมกับอากาศร้อนบ้านเราที่มีแมลง และยุงมากจนเกิดโรคผิวหนังตามมา แต่ผู้ผสมพันธุ์หารู้ไม่ว่าการเอาของมีน้อยมาปั่นราคาขาย เป็นการเอายีนส์ด้อยออกมาโชว์ย่อมไ่ม่เกิดผลดี ดังนั้นหากจะคงสายพันธุ์นี้ไว้ได้ จะต้องปรับปรุงพันธุ์ให้สายเลืิอดนิ่ง ถ่ายทอดกรรมพันธุ์ได้คงที่และัมั่งคงสู่ลูกหลาน

3. รูปทรง สุนัขบางแก้วเป็นสุนัขที่จัดอยู่ในประเภทรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส หมายความว่า เมื่อยืนตรง มองด้านข้างแล้วนึกในใจว่า ถ้าไม่มีคอและหางที่เหลือคือ ลำตัวแผ่นหลัง, ขาหน้า, ขาหลัง และความห่างของขาหน้าและขาหลังดูแล้วจะเท่ากันหมด จึงเรียกว่าสี่เหลี่ยมจัตุรัสดังนั้นผู้นำสุนัขเข้าประกวดไม่น่าจะเอารูปแบบสุนัขพันธุ์อื่นที่พันธุ์ของเข้าเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามาเป็นตัวอย่างในท่ายืน คือ เอาขาเหยีอดออกไปข้างหน้าข้างหลัง จะทำให้สุนัขบางแก้วดูแล้วไม่เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ดังนั้นผู้นำสุนัขบางแก้วเข้าประกวดไม่จำเป็นต้องจัดท่าให้กรรมการดู ควรให้ยืนท่าปกติ หันด้านข้างให้กรรมการดูเท่านั้นก็พอ

4. ขน สุนัขบางแก้วเป็นสุนัขขนยาวเมื่อเทียบกับสุนัขไทยทั่วไป เพราะว่าสุนัขบางแก้วพัฒนามาจากบ้านบางแก้ว เป็นป่าน้ำขัง มีคลองบางแก้วอยู่ จึงมียุงและแมลงมาก ขนยาวจึงเป็นการป้องกันยุงกัดได้ นอกจากขนยาวแล้วมีขนขึ้นหนาทึบ ทำให้สุนัขบางแก้วชอบอาบน้ำ ลงเล่นน้ำ เพราะว่าขนทึบหนาทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น จึงเป็นสุนัขขี้ร้อน เมื่อโตเ็ต็มที่จะพบว่ามีขนยาวขึ้นบนไหล่อีกชั้นหนึ่ง ตัวผู้ขนคอยาวดูคล้ายหน้าสิงโต และขนยาวออกผหลังขาหน้าดูคล้ายขาสิงห์ ที่กล่าวมานี้จะพบได้ทุกตัว ถ้าหากสุนัขบางแก้วมีอายุมากขึ้น

5. หาง ต้องเข้าใจว่าสุนัขบางแก้วตามปกติแล้ว พัฒนามาจากสุนัขจิ้งจอก ดังนั้นจึงต้องมีหางเป็นพวงเหมือนสุนัขจิ้งจอก และหางต้องไม่ยาว บางตัวเวลาวิ่งหางอาจจะตั้งเหมือนกระรอกก็ได้ ข้อสำคัญหางต้องเป็นพวง ถ้าโค้งไปบนหลังต้องตรงเส้นสันหลัง หางต้องไม่ไพล่ไปด้านใดด้านหนึ่ง

6. หู เรื่องหูนี้ผู้เลี้ยงสุนัขบางแก้วรุ่นใหม่ๆ จะตัดสินผิดหมด บางคนบอกไม่ใช่สุนัขบางแก้วไปเลยก็มี ในประวัติสุนัขบางแก้วนั้น สุนัขบางแก้วน่าจะมาจาก 3 สายพันธุ์ คือ สุนัขจิ้งจอก สุนัขป่า (หมาแดง) และสุนัขไทย ดังนั้น สุนัขบางแก้วที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนารุ่นแรกๆ จะพบว่ามีหูเล็กเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม ปลายหูเบนออกจากกัน แต่ปัจจุบันจะพบว่าใบหูใหญ่ขึ้นมากกว่าเดิม และใบหูตั้งตรงเหมือนสุนัขอัลเซเชี่ยน ดังนั้นผู้เลี้ยงรุ่นใหม่ จึงพบแต่สุนัขบางแก้วหูตั้งตรง พอพบสุนัขบางแก้วหูเล็กปลายหูเบนออกไปด้านข้าง บอกว่าไม่ใช่สุนัขบางแก้ว จึงขอให้เข้าใจว่าสุนัขบางแก้วมี 2 แบบ แบบเก่ากับแบบใหม่ ดังที่กล่าวมาแล้ว

7. อายุ ในการประกวดสุนัขบางแก้วนั้น ถ้าเราคิดว่าการเป็นสัดครั้งแรกอยู่ที่ 8 เดือนขึ้นไป จึงเรียกว่าการเป็นสาวเริ่มแรกแล้ว แต่การเจริญเติบโตเต็มที่ต้อง 12 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะสอดคล้องกับเพศผู้ ตัวผู้ก็จะเริ่มผสมพันธุ์ก็ต้อง 12 เดือนขึ้นไป จึงอยากจะสรุปได้ว่า ถ้ามีประกวดสุนัขบางแก้วอายุตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป จะทำให้ได้สุนัขที่สวยงามและรูปร่างที่คงที่ ซึ่งต่างจากอายุต่ำลงมา เช่น ประกวดรุ่นไม่เกิน 3 เดือน หรือ 6 เดือน การเจริญเติบโตยังต้องมีอยู่และมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่มีการประกวดรุ่นเล็ก เพื่อเป็นการฝึกหัดสุนัขที่เข้าประกวด ฝึกหัดการดู และคัดเลือกสุนัขเล็ก ดังนั้น สุนัขรุ่นเล็กที่ชนะเลิศแล้ว เมื่อเลี้ยงโตขึ้นไปเป็นหนุ่ม-สาวแล้ว ไม่จำเป็นที่ต้องสวยเหมือนตอนเล็กๆ ก็ได้

การตัดสินการประกวด มีขั้นตอนดังนี้

1. การตรวจสุขภาพ ต้องสมบูรณ์โดยการดึงขนดูว่าหลุดออกมาติดมือกรรมการหรือไม่ ตรวจดูความผิดปกติที่เป็นลักษณะกรรมพันธุ์ เช่น ลูกอัณฑะเม็ดเดียว นิ้วเกิน ฟันบนและล่างประกบกันไม่สนิท เป็นปากนกแก้วหรือฟันล่างยื่น ลักษณะที่พบเช่นนี้ให้คัดสุนัขออกไปก่อน ลักษณะที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ดูแล้วมีจุดตรงหัวคิ้ว เรียกว่า “หมาสี่ตา” หรือแบบสุนัขสวมแว่น ก็ต้องคัดออกไป

2. การดูด้านข้าง ให้กรรมการยืนดูห่างออกมาเพื่อจะดูรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ถ้าไม่ได้สี่เหลี่ยมจัตุรัสให้คัดออกไปเลย ดูหลังแอ่นหรือไม่หลังควรจะตรงดูดั้งจมูกที่จะต่อกับหัวคิ้วต้องแอ่นหรือหักลงเล็กน้อย ไม่ควรจะตรง ดูสีของขนที่มีขาวกับน้ำตาล หรือขาว-ดำ จะสมดุลกันสีขาวไม่ควรจะมากเกิน 50% ดูขนยาวที่ขาว่าเป็นขาสิ่งห์หรือไม่ เป็นต้น

3. การดูหน้าตรง การสังเกตใบหน้าของสุนัขบางแก้ว จะเป็นรูปทรงปากแหลม ต่อมาดูความสมดุลของสีตามใบหน้า ทั้งซีกซ้ายและขวาต้องเท่ากัน ดูสีดำของขอบปากเรียกว่า ปากมอม ต้องสีดำไม่ถึงใบหู ดูใบหูได้สมดุลกันทั้งสองข้าง จมูกและขอบริมฝีปากต้องไม่ด่าง จมูกต้องดำตลอด ถ้ามีขนสีขาวปนต้องคัดทิ้ง สีของลูกตาต้องเป็นสีเหลืองทั้ง 2 ข้าง และสังเกตดูจะเป็นรูปหน้าสิงห์หรือหน้าเสือ

4. การดูด้านหลัง จะดูหางเป็นพวง ปลายหางโค้งไปตรงแกนหลัง ต้องไม่ไพล่ไปข้างใดข้างหนึ่ง ขนที่ก้นย้อยต้องยาวออกมา ถ้าเป็นเพศเมียอวัยวะเพศต้องสมบูรณ์ไม่ด่าง

5. การดูท้อง ต้องให้สุนัขยืน 2 ขาหลัง กรรมการควรจะดูหัวนมบอดหรือไม่ ขนาดสม่ำเสมอหรือไม่ หัวนมซ้าย-ขาว ต้องตรงกัน และได้ระเบียบหัวนมแต่ละข้างจะต้องมีจำนวนเท่ากัน อย่างต่ำต้องมี 3 คู่ ถ้ามี 4 หรือ 5 คู่ยิ่งดี เพราะว่าความสามารถการให้ลุกของสุนัขเพศเมียต้องเท่ากับจำนวนเต้านม เช่น มีเต้านม 3 คู่ ก็สามารถมีลูกได้ 6 ตัว ถ้ามี 4 คู่ก็สามารถได้ลูก 8 ตัว ดังนั้นการมีเต้านมมากจึงได้เปรียบ

6. การวิ่งวงกลม สังเกตจังหวะการวิ่งความเหนื่อยหอบมากน้อยแค่ไหน จากการเตรียมตัวฝึกซ้อมมาประกวดดูขาหน้าข้อเท้าขาหน้าข้ออ่อนหรือไม่ ที่เรียกว่าวิ่งตีนเป็ดหรือไม่ ดูหางถ้าเป็นสุนัขบางแก้ววิ่งแล้วหางต้องตั้งตรงแบบหางกระรอกจะสวยงาม หรือหางเป็นพวงไปข้างหน้า หรือเวลาวิ่งเร็วจะลู่ไปด้านหลังอย่างมีระเบียบ ดูหลังแอ่นหรือไม่ แล้วกรรมการควรจะจัดอันดับการวิ่งให้ตัวที่สวยๆ และรองลงมาเรื่อยจนถึงตัวสุดท้ายที่ต้องคัดออกให้หยุดวิ่งก็ได้

7. การวิ่งตรง ควรให้วิ่งทีละตัว สังเกตการวิ่งตัวตรงหรือไม่ ดูจากให้วิ่งเข้าหากรรมการและวิ่งออกไปคือ ดูด้านหน้าและด้านหลัง ดูด้านหน้าให้สุนัขวิ่งเข้าหากรรมการ ขาหน้าขวาหรือซ้ายวิ่งเจ็บหรือไม่ ข้ออ่อนหรือไม่ ขาซ้ายและขวาวิ่งเข้าด้านในหรือไม่ หน้าอกลึกกว่างหรือไม่ การดูด้านหลังขาหลังข้างใดข้างหนึ่งเจ็บหรือไม่ ว่าหัวเข่า “หลีกหนาม” หรือไม่ ดูหางตั้งตรงหรือไม่ ถ้าหากกรรมการยังตัดสินคัดตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ ให้นำมาวิ่งเปรียบเทียบเป็นคู่ๆ จะทำให้ตัดสินได้ว่าตัวไหนดีกว่า

ที่มา: หนังสือสุนัขบางแก้ว OTOP มีชีวิตเมืองสองแคว

No comments:

Post a Comment