2009-05-24

การเลี้ยงสุนัขเพื่อเสริมฮวงจุ้ย

ปัจจุบันตรงกับปี 2548 ปีระกา หรือเป็นยุค 8 ตามหลักฮวงจุ้ยดาว 9 ยุค ถ้าพิจารณาจากโป๊ยข่วย หรือ ยันต์ 8 ทิศ บนจานหล่อแก หรือ เข็มทิศทางฮวงจุ้ย จะพบว่า เลข 8 ตรงกับทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มตั้งแต่ 22.5 ํ - 67.5 ํ และสัญญลักษณ์ทางฮวงจุ้ยที่ใช้แทนทิศทางนี้คือ สุนัข ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงที่น่ารักประจำยุค 8 นี้นั่นเอง
เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า สมัยนี้เกือบทุกอาคารบ้านเรือนหันมาสนใจในการเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อนเล่นในบ้านกันมากขึ้น ผิดจากสมัยก่อนที่มนุษย์มักจะเลี้ยงสุนัขไว้เฝ้าบ้านเท่านั้น ความนิยมในการเลี้ยงสุนัขจะเห็นได้จากจำนวนคลีนิคสัตวแพทย์ และสถานรับเลี้ยงสุนัข หรือโรงแรมสุนัขชั้นดีผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ด ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ในยุค 8 (พ.ศ. 2547 - 2566) นี้ สัตว์เลี้ยงยอดนิยมจะเป็นอะไรไปไม่ได้เลย นอกจาก เจ้าตูบผู้แสนน่ารัก ของท่าน


บทบาทของสุนัขในทางฮวงจุ้ย

ในหลักการทางฮวงจุ้ย คือว่า " สุนัข " คือ บุตร บริวาร หรือ ความซื่อสัตย์ของเรานั่นเอง แม้ว่าสุนัขจะเป็นสัตว์ 1 ใน 12 นักสัตว์ก็ตาม ในช่วงปัจจุบันนี้ซึ่งเพิ่งเข้าสู่ยุคที่ 8 เป็นปีที่ 2 สามารถกล่าวได้ว่า สุนัขย่อมเป็นสัตว์ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อมวลมนุษย์อีกเป็นเวลาถึง 19 ปี (เนื่องจาก 1 ยุคมี 20 ปี) และสามารถท้าพนันได้เลยว่า ถ้านับสถิติกันจริงๆ ปัจจุบันสุนัขจะมีจำนวนมากที่สุดในโลก เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น


หลักการเลี้ยงสุนัขเพื่อเสริมฮวงจุ้ย

ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ถ้าท่านจะนำสุนัขมาเลี้ยงในบ้านสัก 1 ตัว เพียงแต่ท่านทราบ วัน เดือน ปีเกิด ของสุนัข และสามารถหาสุนัขที่มีธาตุที่สัมพันธ์และให้คุณกับท่านได้ สุนัขตัวเล็กๆเพียงตัวเดียวก็อาจจะช่วยให้เจ้าของเกิดความสุข และช่วยเสริมบารมีของเจ้าของในเรื่องต่างๆได้ เช่น ตำแหน่งหน้าที่การงาน เงินทอง โชคลาภ เป็นต้น
นอกจากนี้การกำหนดทิศทางและตำแหน่งในการวางกรงของสุนัขจะช่วยเสริมบารมีให้เจ้าของในเรื่องต่างๆกัน เช่น ถ้าท่านวางกรงสุนัขทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะส่งผลให้สุนัขมีสุขภาพแข็งแรง และอายุยืนยาว บุตรหลานเชื่อฟังพ่อแม่ และอยู่ในโอวาท บริวารจงรักภักดี เป็นต้น แต่ถ้าท่านวางกรงสุนัขไปทางทิศใต้ จะเปรียบเสมือนเป็นลูกสาวคนเล็ก มีความซื่อสัตย์ ขี้อ้อน และรักเจ้าของ เป็นต้น


สุนัขกับธาตุทั้ง 5

สุนัข ก็คล้ายมนุษย์ตรงที่มีการวิเคราะห์ ธาตุทั้ง 5 ในแต่ละตัว ถ้าสุนัขที่ท่านเลี้ยงมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ก็ช่วยส่งผลดีต่อเจ้าของไปด้วย และถ้าสุนัขที่ท่านเลี้ยงเป็นโรคประจำตัวต่างๆ ก็แสดงว่าสุนัขของท่านขาดธาตุใดธาตุหนึ่งใน 5 ธาตุ ดังนี้

ลำดับที่ โรคที่เกิดกับสุนัขขาดธาตุสำคัญแก้ไขโดยการวางกรงหรือจัดที่อยู่ให้ใหม่ตามทิศทางที่ถูกต้อง
1.โรคตับหรือโรคปอด ธาตุไม้ ทิศตะวันออก หรือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้
2.ท้องอืด ท้องเฟ้อ โรคลำไส้ โรคกระเพาะธาตุดินทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
3.โรคกระดูก ธาตุทอง ทิศตะวันตก
4.โรคเลือด ธาตุน้ำทิศเหนือ
5.โรคหัวใจ หรือ โรคความดันโลหิต ธาตุไฟทิศใต้

อย่างไรก็ดี การหาตำแหน่งการจัดวางกรงสุนัขดังกล่าวข้างต้น หากไม่สามารถหาพื้นที่ในการวางกรงในตำแหน่งนั้นๆได้ ก็สามารถแก้เคล็ดด้วยการหาภาพถ่ายของสุนัขตัวโปรดของคุณไปวาง ณ ตำแหน่งนั้นๆ แทน ก็จะช่วยแก้ไขได้เช่นกัน


บทสรุป

ท่านเชื่อหรือยังว่า แม้แต่การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแสนรักสัก 1 ตัว ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นกับทิศทางของฮวงจุ้ยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าหากเราไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องราวดังกล่าวมากมายนัก การเลี้ยงสุนัขสักตัวก็เป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาเหลือเกิน แต่ในทางกลับกัน ถ้าเรารักที่จะเลี้ยงสุนัขเพื่อให้เป็นเพื่อนแท้ในครอบครัวสักตัว หรือเป็นสมาชิกที่มีความสำคัญต่อเรา เปรียบเสมือนเป็น 1 ในสมาชิกครอบครัวของเราแล้ว การเลี้ยงสุนัขให้ดีและสอดคล้องกับทิศทางฮวงจุ้ย ก็จะส่งผลกระทบในเชิงบวกให้แก่คุณและครอบครัวได้อย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
นอกเหนือไปจากหลักการกว้างๆที่เกริ่นให้ท่านผู้อ่านที่รักทราบไปบ้างแล้ว ก็พอมีเกล็ดความรู้น่าสนใจบางประการ กล่าวคือ บางท่านบอกว่าต้องการเลี้ยงสุนัขให้เฝ้าบ้าน กันขโมย แต่สุนัขเจ้ากรรมกลับเรียบร้อยเหลือเกิน เห่าไม่เป็น เรื่องนี้แก้ไขไม่ยาก ท่านต้องนำสุนัขตัวนั้นไปเลี้ยงไว้ที่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตรงองศาที่ 112.5 ํ - 122.5 ํ สุนัขตัวนั้นก็จะมีนิสัยดุขึ้นมาทันที
สุดท้ายสำหรับแฟนฮวงจุ้ยที่รัก ถ้าหากเกิดกรณีสุนัขตัวโปรดของท่านตาย หรือเสียชีวิตลง บางท่านต้องการหาที่ฝังศพไว้ภายในบ้าน และต้องการกำหนดที่ฝังเพื่อให้สุนัขตัวโปรดนอนหลับสนิทไปอย่างสงบ ก็สามารถทำได้ แต่ขออนุญาตไม่อธิบายในรายละเอียดในคอลัมน์นี้ เพราะอาจจะดู over ไปสำหรับผู้ที่ไม่ชอบสุนัข ดังนั้น หากแฟนคอลัมน์ท่านใดต้องการเคล็ดลับตรงจุดนี้ ก็ขออนุญาตให้ปรึกษาเป็นรายบุคคลก็แล้วกัน

ที่มา : http://www.fpo.go.th/S-I/Source/ELW/ELW44.htm

No comments:

Post a Comment