2009-05-30

ฟันสุนัข

การตรวจช่องปากและฟันของสุนัข ฟันน้ำนม และ ฟันแท้

ในตอนนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพของช่องปากและฟันสุนัขอย่างละเอียดว่า ทำเพื่ออะไร มีความสำคัญอย่างไร และควรทำเมื่ออายุเท่าไร รวมถึงการเจริญพัฒนาของฟันสุนัข การงอกของฟันสุนัข ฟันแท้ ฟันน้ำนม โครงสร้างของฟัน หลายท่านอาจมีความรู้บ้างแต่อาจจะเข้าในโดยไม่ถ่องแท้ก็เป็นได้ เราสามารถคำนวณอายุสุนัขจากการดูฟันน้ำนมและฟันแท้ของสุนัขได้อย่างคร่าวๆ และจะทราบถึงว่าเมื่อฟันแท้ขึ้นครบแล้วแต่ยังมีฟันน้ำนมหลงเหลืออยู่จำเป็นต้องถอนออกหรือไม่


การตรวจช่องปากและฟันสุนัข (เพื่ออะไร , ทำได้อย่างไรและเมื่ออายุเท่าไร)

การตรวจช่องปากสุนัขอย่างละเอียดถี่ถ้วน มีความจำเป็นอย่างมากเนื่องจากจะสามารถบ่งบอกให้รู้ถึงสุขภาพโดยรวมของสุนัขว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาในช่องปากและฟัน แน่นอนย่อมเป็นการเสี่ยงอย่างมากขณะทำการตรวจต่อตัวของสัตวแพทย์เอง ผู้ช่วย หรือแม้แต่ตัวเจ้าของเอง เพราะบางครั้งอาจเสี่ยงต่อการโดนสุนัขกัด สุนัขบางตัวสัตวแพทย์อาจแนะนำให้มัดปากก่อนหรือใส่ปลอกรัดปาก หรือใส่ตระกร้อ หรือบางกรณีอาจจำเป็นต้องให้ยาซึมหรือยาสลบเพื่อป้องกันการกัดในขณะที่สัตวแพทย์ทำการตรวจ

การวางยาซึมหรือยาสลบสุนัขในปัจจุบันนี้สามารถกล่าวได้ว่ามีความปลอดภัยเป็นอย่างมาก เจ้าของสุนัขไม่ต้องกลัวหรือกังวล สัตวแพทย์จะใช้ดุลยพินิจของตัวเองร่วมกับการตัดสินใจของเจ้าของ การตรวจช่องปากโดยละเอียดถี่ถ้วนนี้จะทำให้ทราบถึงสภาวะการเจ็บป่วยของสุนัขโดยรวมๆ ว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาใดบ้างที่จำเป็นต้องป้องกันและแก้ไขเพื่อความปลอดภัยของสุนัขก่อนที่จะเกิดปัญหาร้ายแรงตามมา

ในช่องปากสุนัขจะมีเยื่อเมือกปกคลุมในส่วนของเหงือก ริมฝีปากด้านใน และด้านในของกระพุ้งแก้ม เยื่อเมือกนี้จะบ่งบอกให้รู้ว่าสุนัขอยู่ในสภาพขาดน้ำหรือไม่ ถ้าเยื่อเมือกมีสีชมพูและชุ่มชื้นก็แสดงว่าสุนัขมีสุขภาพดี แต่ถ้าเยื่อแห้งก็จะบ่งบอกว่าขาดน้ำ สาเหตุอาจเกิดจากการเสียน้ำจากกรณีปัสสาวะมากเกินไป ท้องเสีย หรือท้องมานก็ได้ ถ้าเยื่อเมือกซีดก็จะบ่งบอกว่าสุนัขมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติหรือโลหิตจาง หรือสุนัขกำลังช็อค หรือถ้าเยื่อเมือกมีสีเหลืองก็จะบ่งบอกว่าเป็นดีซ่าน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการวินิจฉัยโรคให้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น ทำให้สัตวแพทย์วินิจฉัยได้ว่าสุนัขของท่านปกติหรือไม่ หรือน่าจะป่วยด้วยโรคหรือด้วยสาเหตุใดได้บ้าง เป็นแนวทางในการตรวจวินิจฉัยโรคเป็นลำดับๆ เพื่อหาทางรักษาสุนัขของท่านได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที

เยื่อเมือกในช่องปากที่ผิดปกตินอกจากจะขาดความชุ่มชื้น ซีด เหลือง และยังอาจพบว่ามีลักษณะเป็นแผลหลุม ซึ่งสามารถพบได้กรณีของการมียูเรียในกระแสเลือดมากเกินไป เนื่องจากสภาพความผิดปกติจากการทำงานของไต หรือเยื่อเมือกมีจุดเลือดออกเนื่องจากขาดเกล็ดเลือด ทำให้มีเลือดออกตามหลอดเลือดขนาดเล็กๆ ที่มาเลี้ยงบริเวณเยื่อเมือกของช่องปาก หรืออาจพบลักษณะตุ่มใสๆ ซึ่งอาจเกิดจากโรคทางระบบภูมิคุ้มกันของสุนัขก็ได้

การตรวจช่องปากสุนัขยังทำให้ทราบถึงสภาวะของโรคในช่องปากโดยเฉพาะ เช่น เหงือกอักเสบ สิ่งแปลกปลอมในปาก เนื้องอก ท่อของต่อมน้ำลายอุดตันหรือฉีกขาด หินปูน หินน้ำลาย ฝีที่ลุกลามจากรากฟันทำให้โพรงฟันอักเสบ ลิ้นอักเสบ ฟันน้ำนมที่ยังไม่หลุดเมื่อถึงอายุ 7 เดือน หรืออาจพบปัญหาฟันสึก ฟันแตก ฟันหักหรืออื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและการรักษาอย่างถูกต้อง
การตรวจช่องปากและฟันของสุนัขที่มีสุขภาพปกติควรตรวจเมื่อสุนัขมีอายุได้ดังนี้

อายุ
  • ลูกสุนัข - 2 เดือน ควรตรวจดูว่าสบของฟันมีความผิดปกติหรือไม่ ฟันน้ำนมครบทุกซี่หรือไม่หรือมีการงอกของฟันผิดปกติหรือไม่
  • 4-5 เดือน ควรตรวจดูว่าเริ่มมีการหลุดของฟันน้ำนม และมีการแทนที่ของฟันแท้หรือยัง การสบของฟันดีหรือไม่
  • 6-7 เดือน ควรตรวจดูว่าฟันน้ำนมหลุดหรือยัง การงอกของฟันแท้มีทิศทางและตำแหน่งถูกต้องหรือไม่ ฟันขึ้นครบหรือไม่ มีฟันเกินฟันซ้อนหรือไม่
  • 8 เดือนขึ้นไป ควรตรวจดูว่ามีหินปูน หินน้ำลาย ฟันแตก ฟันหัก ฟันบิ่น รากฟันอักเสบ รากฟันเป็นฝี โพรงฟันเป็นฝี หรือการอักเสบของขากรรไกร
การตรวจช่องปากอย่างละเอียดถี่ถ้วนเท่านั้นที่จะสามารถพบปัญหาเหล่านี้ และเป็นหน้าที่ของเจ้าของสุนัขที่จะพาสุนัขมาตรวจกับสัตวแพทย์ แล้วท่านล่ะเคยพาสุนัขไปตรวจสุขภาพช่องปากและฟันบ้างหรือยัง


การงอกของฟันน้ำนม ฟันแท้ และการเจริญพัฒนาของฟัน

ฟันของสุนัขมี 2 ชุด คือ ฟันน้ำนมและฟันแท้ ซึ่งฟันและซี่จะมีส่วนที่พ้นเหงือกออกมา ( Crown ) และส่วนที่ฝังอยู่ใต้เหงือกในขากรรไกร เรียกว่า รากฟัน ( Root ) โดยแสดงรายละเอียดดังนี้
  • ส่วนของรากฟันที่พ้นเหงือก ( Crown ) คือ ส่วนที่เรามองเห็นได้ ปกติจะมีสีขาว
  • เคลือบฟัน ( enamel ) คือ ส่วนที่ปกคลุมส่วนของฟันที่พ้นเหงือกออกมาลักษณะแข็ง ผิวเรียบ เป็นมัน
  • คอฟัน ( neck ) คือ ส่วนสั้นๆ แคบๆ ของฟันที่โผล่พ้นเหงือก ( Crown ) ที่อยู่ชิดติดกับเหงือก
  • เนื้อฟัน ( dentin ) คือ ส่วนประกอบหลักที่เป็นฟัน มีความแข็งแรงคล้ายกระดูก ส่วนที่โผล่เหงือกออกมา ( Crown ) จะถูกปคลุมด้วยเคลือบฟัน ( enamel )
  • รากฟัน ( root of tooth ) คือ ส่วนของฟันที่ฝังอยู่อยู่ในส่วนของเหงือก
  • โพรงฟัน ( pulp ) เป็นที่อยู่ของเนื้อเยื่ออ่อนของฟัน ซึ่งจะมีเฉพาะเส้นประสาทที่ทำหน้าที่รับความรู้สึก ร้อน เย็น แรงกด และในโพรงฟันจะมีเส้นเลือดมาเลี้ยงตลอดความยาวของคลองรากฟัน( root canal )
การเจริญพัฒนาของฟันจะเริ่มตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนอยู่ในท้อง และจะสมบูรณ์เป็นฟันแท้เมื่ออายุครบ 6 – 7 เดือน ในขณะที่เป็นตัวอ่อนอยู่ในท้องของแม่ เซลล์ที่เป็นต้นกำเนิดของฟันจะมีการจัดเรียงตัวและเปลี่ยนแปลงรูปร่างของเซลล์เป็นตุ่มเล็กๆ เป็นรูปร่างของฟัน ฟันจะเริ่มโผล่พ้นเหงือกก่อนที่รากฟันจะมีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ หลังจากฟันน้ำนมมีการโผล่พ้นเหงือกหรือฟันงอกจนเป็นฟันน้ำนมอย่างสมบูรณ์ได้ไม่นานรากของฟันน้ำนมจะมากเสื่อมและถูกดูดซึมทำงานด้วยกลไกของร่างกาย ขณะเดียวกันตุ่มหรือหน่อของฟันแท้ก็จะเริ่มมีการเจริญพัฒนางอกขึ้นมาแทนที่ฟันน้ำนมหลังจากฟันน้ำนมหลุดออกไป

ฟันน้ำนมนี้จะคงอยู่ จนกระทั่งขนาดของขากรรไกรมีขนาดเพียงพอที่จะรองรับให้ฟันแท้งอกขึ้นมา ฟันแท้จะขึ้นครบทุกซี่เมื่ออายุได้ 6-7 เดือน ขึ้นอยู่กับขนาดของพันธุ์สุนัขว่าเป็นสุนัขพันธุ์เล็กหรือพันธุ์ใหญ่

ฟันน้ำนม

ฟันน้ำนมปกติจะพบได้เฉพาะในลูกสุนัขเท่านั้น ถ้าลูกสุนัขอายุเกิน 6-7 เดือนไปแล้วยังมีฟันน้ำนมหลงเหลืออยู่ถือเป็นเรื่องผิดปกติอย่างรุนแรง จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการถอนอย่างถูกวิธี

ฟันน้ำนมนี้จะถูกแทนที่ด้วยฟันแท้ โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 2-3 เดือนในลักษณะของตุ่มหรือหน่อของฟันแท้ใต้เหงือก ในขณะเดียวกันกับที่รากฟันน้ำนมถูกทำลายและการดูดซึมด้วยกลไกของร่างกายสุนัข

ลูกสุนัขที่คลอดใหม่จะไม่มีฟัน ฟันน้ำนมในลูกสุนัขจะเริ่มงอกเมื่ออายุได้ 2-4 สัปดาห์ โดยฟันเขี้ยว (Canine tooth ) จะโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาก่อน และจะขึ้นครบทุกซี่เมื่ออายุได้ประมาณ 8 สัปดาห์

ฟันน้ำนมจะมี 28 ซี่ ดังนี้

ชนิดของฟัน จำนวนคู่ จำนวนซี่
ฟันตัด ( Incisor : I )ฟันบน3 คู่
ฟันล่าง3 คู่
รวม12 ซี่
ฟันเขี้ยว ( Canine : C ) ฟันบน1 คู่
ฟันล่าง1 คู่
รวม4 ซี่
ฟันกรามน้อยหรือฟันก่อนฟันกราม ( Premolars : PM ) ฟันบน 3 คู่
ฟันล่าง 3 คู่
รวม12 ซี่
รวมทั้งหมด28 ซี่

ฟันน้ำนมจะมีการพัฒนาที่ดีมากมีความยาวของรากฟันสัมพันธ์กับส่วนของฟันที่พ้นเหงือก( Crown ) กล่าวคือถ้าส่วนของฟันที่พ้นเหงือก ( Crown ) ยาว รากฟันซี่นั้นก็จะยาวด้วย ฟันน้ำนมของสุนัขจะคงอยู่ในปากสุนัขจนกระทั่งถึงเวลาที่ขากรรไกรมีขนาดเพียงพอที่จะทำให้ฟันแท้โผล่งอกพ้นเหงือกขึ้นมาได้ รากของฟันน้ำนมจะเริ่มถูกทำลายและดูดซึมอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ฟันน้ำนมมีการงอกขึ้นอย่างสมบูรณ์ และจะถูกแทนที่ด้วยฟันแท้ในตำแหน่งเดียวกัน เพราะเหตุว่าตำแหน่งของฟันน้ำนมจะเป็นที่อยู่ของฟันแท้นี่เอง จึงมีความสำคัญมากต่อการงอกของฟันแท้ ดังนั้นเมื่อลูกสุนัขอายุได้ 8 สัปดาห์ (2 เดือน) ควรได้รับการตรวจฟันว่าการสบของฟันมีปัญหาหรือไม่ หรือมีความผิดปกติแต่กำเนิดของทิศทางการงอกของฟันหรือตำแหน่งของฟันหรือไม่ ในกรณีเกิดมีปัญหาต่อฟันน้ำนมของสุนัข เช่น การชอกช้ำจากการกระทบกระแทกหรือการขึ้นผิดตำแหน่งหรือมีการติดเชื้อในฟันน้ำนมซี่ไหนก็ตาม ถ้ามีการพิจารณาแก้ไขโดยการถอนทิ้ง ควรกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างมาก โดยต้องไม่กระทบกระเทือนหรือมีผลเสียต่อหน่อหรือตุ่มของฟันแท้ที่อยู่ใต้เหงือก เพราะจะมีผลต่อการงอกการเจริญพัฒนาของฟันแท้ อาจทำให้ผิดตำแหน่ง ทิศทาง ผิดรูปร่างของฟันแท้ได้

ฟันแท้

ฟันแท้ในสุนัขจะมี 42 ซี่ การงอกของฟันแต่ละซี่แต่ละชนิดจะปรากฎเมื่ออายุดังต่อไปนี้

ชนิดของฟัน อายุ
ฟันตัด ( Incisor : I ) 2 – 5 เดือน
ฟันเขี้ยว ( Canine : C ) 5 – 6 เดือน
ฟันกรามน้อยหรือฟันก่อนฟันกราม ( Premolars : PM ) 4 – 6 เดือน
ฟันกราม ( Molar : M ) 5 – 7 เดือน

จำนวนฟันแท้ 42 ซี่ แยกเป็นแต่ละชนิดดังนี้

ชนิดของฟัน จำนวนคู่จำนวนซี่
ฟันตัด ( Incisor : I ) ฟันบน3 คู่
ฟันล่าง3 คู่
รวม12 ซี่
ฟันเขี้ยว ( Canine : C ) ฟันบน1 คู่
ฟันล่าง1 คู่
รวม4 ซี่
ฟันกรามน้อยหรือฟันก่อนฟันกราม ( Premolars : PM ) ฟันบน4 คู่
ฟันล่าง4 คู่
รวม16 ซี่
ฟันกราม ( Molars : M )ฟันบน2 คู่
ฟันล่าง3 คู่
รวม10 ซี่
รวมทั้งหมด42 ซี่


ที่มา : ชมรมสร้างสรรค์สุนัขพันธุ์ไทย

No comments:

Post a Comment