2009-05-22

การบริจาคเลือดของสุนัข

เพราะัเหตุใดสุนัขจึงต้องมีการให้เลือด

สุนัขอาจจะมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการได้รับการให้เลือดด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ เลือดของสุนัขก็คล้ายกับเลือดของมนุษย์คือ ประกอบด้วยเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือดและน้ำเลือด และเลือดที่ได้รับบริจาคจากสุนัขก็สามารถแยกออกเป็นส่วนประกอบต่างๆ ด้งที่กล่าวไปแล้วด้วยเหมือนกัน เพื่อการใช้งานตามวัตถุประสงค์ความต้องการของสุนัขป่วยที่ต้องการที่จำเพาะและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของเลือดที่ได้รับบริจาคสุนัข แต่โดยทั่วไปสุนัขที่ต้องการเลือดมักจะต้องการเม็ดเลือดแดง หรือน้ำเลือดมากที่สุด
การให้เลือด หรือเม็ดเลือดแดงมักจะใช้กรณีเพื่อการรักษาโรคโลหิตจาง (anemia) นอกจากนี้แล้วสุนัขอาจจะต้องกา่รเลือดในกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุ หรือกรณีทำการผ่าตัดศัลยกรรม หรือกรณีที่สัตว์ป่วยไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดแดงได้ หรือกรณีที่เม็ดเลือดแดงในร่างกายถูกทำลายอย่างรุนแรง (จากโรค เช่น พยาธิในเม็ดเลือดแดง เป็นต้น)

สำหรับน้ำเลือด (plasma) ประกอบด้วยโปรตีน หรือเอนไซม์ต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับการทำให้เลือดมีการแข็งตัว (clot) มักมีความจำเป็นสำหรับการรักษาภาวะเลือดออก (bleeding) อันเนื่องมาจากโรคตับ หรือกรณีที่เกิดเลือดออกจากการได้รับสารหนู (rodent poison) นอกจากนี้น้ำเลือดยังมีความจำเป็นสำหรับสุนัขป่วยที่มีระดับโปรตีน หรืออัลบูมินในเลือดต่ำ ส่วนประกอบอื่นๆ ของน้ำเลือด เช่น cryoprecipitate จะใช้สำหรับการรักษาโรคเลือดไหลไม่หยุด (hemophillia) หรือโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับปัญหาภาวะเลือดออกไม่หยุดอันเนื่องมาจากพันธุกรรม

สุนัขที่บริจาคเลือดมาจากไหน

เลือดในธนาคารเลือด ณ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ได้รับมาจากสุนัขที่มาบริจาคเลือด มีสุนัขหลายพันธุ์ที่มาให้เลือดเป็นประจำ (ซึ่งมีปรากฎในหน้าสุนัขใจบุญครับ/ค่ะ) โดยผู้นำสุนัขมาบริจาคเลือดให้มาติดต่อหน่วยงานประชาสัมพันธ์โรงพยาบาลสัตว์ บางเขน ติดกรมป่าไม้ ่จากนั้นจะมีการตรวจร่างกาย ถ้าไม่มีปัญหาใดๆ การเก็บเลือดก็จะเกิดขึ้น ณ ห้องปฏิบัติการธนาคารเลือด ชั้น 3 อาคารโรงพยาบาลสัตว์ 9 ชั้น หรือตึกเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สุนัขที่บริจาคเลือดจะไม่ได้รับความเจ็บปวดใดๆ จากการบริจาคเลือด การเก็บเลือดจะใช้ระยะเลาประมาณ 5-15 นาที ขั้นตอนต่างๆจะมีความคล้ายคลึงกับกระบวนการในธนาคารเลือดของคน

เลือดที่ได้รับบริจาคจากสุนัขปลอดภัยหรือไม่

สุนัขที่มาบริจาคเลือดจะได้รับการตรวจกรอง (screened) โรคที่สามารถติดต่อกันได้ทางเลือด เพื่อเป็นหลักประกันว่าสุนัขที่เข้าสู่กระบวนการบริจาคเลือดมีสุขภาพดี โดยปกติแล้วเราจะรับสุนัขที่มีหมู่เลือดในกลุ่ม "universal blood type" หรือสุนัขที่มีหมู่เลือดที่สามารถเข้ากับหมู่เลือดอื่นๆได้ทั้งหมด ถ้าเปรียบเทียบกันในคนก็คือคนหมู่เลือดโอ เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงปฏิกิริยาทางเคมีของการเข้ากันไม่ได้ของหมู่เลือดจากการให้เลือด แต่เนื่องจากเราไม่สามารถเลือกสุนัขที่มาบริจาคได้ การรับบริจาคจึงไม่จำกัด เพียงแต่ก่อนการให้เลือดจะต้องมีตรวจการเข้ากันได้ของหมู่เลือดเท่านั้นเอง เลือดที่เก็บจากสุนัขใจบุญจะถูกเก็บไว้ในถุงพลาสติกที่ปราศจากเชื้อโรค ขั้นตอนการเก็บและรักษาจะทำให้เลือดปราศจากการปนเปื้อนเชื้อโรคและเก็บไว้ในตู้เก็บเลือดเช่นเดียวกับธนาคารเลือดของคน โดยปกติเลือดที่ได้รับบริจาคมีการกำหนดวันหมดอายุปรากฎอยู่และทำลายเมื่อหมดอายุ แต่เนื่องจากความต้องการเลือดยังมีอยู่มาก เลือดจึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ

เขาให้เลือดกับสุนัขกันอย่างไร

ก่อนการให้เลือด หรือองค์ประกอบของเลือดอื่นๆกับสุนัข สัตวแพทย์จะทำการตรวจการเข้ากันได้ของหมู่เลือด (crossmatch) เสียก่อน เพื่อความมั่นใจว่า เลือดที่จะให้กับสุนัขไม่มีปฏิกิริยาต่อสุนัขที่ได้รับเลือด เลือดจะถูกถ่ายให้กับสุนัขที่ต้องการเลือดด้วยการให้ทางสายยางผ่านเข้าหลอดโลหิตดำ (ในลักษณะเดียวกับการให้สารน้ำผ่านทางหลอดเลือดดำ) อย่างช้าๆ อัตราเร็วของการให้และปริมาณเลือดที่่จะให้กับสุนัขจะขึ้นอยู่กับความจำเป็น ความต้องการและขนาดของสุนัข

สุนัขของฉัน/ผมมีความเสี่ยงต่อการรับเลือดหรือไม่

เลือดที่ได้จากการบริจาคจะเป็นเลือดที่มาจากสุนัขที่มีสุขภาพดี ก่อนการให้เลือดกับสุนัขตัวรับเลือดจะได้รับการตรวจถึงความเข้ากันได้ของหมู่เลือด ดังนั้นความเสี่ยงต่อการให้เลือดจึงมีน้อยมาก แต่สุนัขบางตัวเมื่อได้รับเลือดแล้วอาจจะมีไข้เกิดขึ้นได้ หรืออาจจะพบว่าหน้าบวมเล็กน้อย (mild facial swelling) ในระหว่าง หรือหลังการให้เลือดก็ได้ ภาวะนี้สัตวแพทย์สามารถแก้ไขได้ สุนัขที่ป่วยด้วยโรคที่ค่อนข้างรุนแรงและต้องได้รับการให้เลือดซ้ำอาจจะพัฒนาปฏิกิริยาการตอบสนองต่อการได้รับเลือดได้ ิ

เลือดของสุนัขที่ได้รับจากการบริจาคเก็บไว้ที่ไหน

เลือดที่ได้รับบริจาคจากสุนัขจะถูกเก็บไว้ที่ธนาคารเลือดสัตว์ ณ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ชั้น 3 และใช้ในการรักษาสัตว์ป่วย

รายละเอียดที่ได้จัดทำในส่วนของธนาคารเลือดสุนัข
ขอขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
เลขที่ 50 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
โทร. 0-2942-8756-9

เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-พฤหัส เวลา 08.30-16.00 น.
วันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 08.30-12.00 น.
วันหยุดนขัตฤกษ์ เวลา 08.30-12.00 น.

No comments:

Post a Comment