2009-06-09

ลักษณะขนและสี

สีของคอลลี่จะมีอยู่ด้วยกันหลักๆ 4 สีด้วยกัน ได้แก่ Sable and White, Tri Color, Blue Merle และ White แต่ตามมาตรฐาน FCI ที่ประเทศไทยใช้อยู่ ไม่ได้จัด White ไว้ในมาตรฐาน (ต่างกับมาตรฐาน AKC ของอเมริกาที่จัดให้มาตรฐานมีทั้ง 4 สีด้วยกัน)

Sable and White(สีน้ำตาล และขาว)

โดยสีน้ำตาลนั้นอาจจะเป็นสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลแก่ก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่สีครีม สามารถแบ่งย่อยๆได้ตามเฉดสีและยีนส์แฝงได้แก่Pure for Sable เป็นสีน้ำตาลแท้ๆที่ไม่มียีนส์สีอื่นมาปน พวกนี้มักจะมีสีที่ตัวที่อ่อน หรือเป็นสีส้มแดง อาจจะมีหรือไม่มีหน้ากากเฉดสีที่เข้มกว่าที่หน้า
  • Trifactored Sable เป็นสีน้ำตาลที่มียีนส์ของสี tri อยู่ในตัว พวกนี้จะมีสีน้ำตาลเข้มกว่า pure sable อาจจะเป็นน้ำตาลเข้มไปจนถึงเป็นสีมะฮอกกานี โดยมีหน้ากากสีน้ำตาลเข้มบนใบหน้า
  • Sable Merle เป็นสีน้ำตาลที่มียีนส์ merle แฝงอยู่ (ส่วนใหญ่เพราะมีพ่อแม่ หรือบรรพบุรุษเป็น Blue Merle แต่ว่า sable merle ไม่ได้เห็นชัดเจนหรือจำแนกง่ายๆว่าใช่หรือไม่ใช่ sable merle ส่วนใหญ่เราเพียงแค่บอกว่าเป็น sable and white เท่านั้น แต่มีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนบางอย่างที่บ่อยครั้งจะพบกับ sable merle คือมีตาสีฟ้า ซึ่งอาจจะฟ้าทั้งตา หรือว่าเป็นเพียงบางส่วนในตาก็ได้ คอลลี่สี sable ที่มีตาฟ้านั้นถือว่าผิดมาตรฐาน ไม่สามารถประกวดได้ sable merle มักจะมีลาย merle เป็นจุดเป็นดวงตามหัว, หู หรือตัว


Tri color (ดำ น้ำตาล ขาว)

สีที่หัวและที่ตัวจะต้องเป็นสีดำ โดยมีสีขาวตามมาตรฐานคือ ที่อก เท้าทั้ง 4 และปลายหาง โดยจะต้องมีสีน้ำตาลที่ข้างปากทอดมาตลอดแนว จนไปถึงข้างแก้ม และมีจุดสีน้ำตาลที่คิ้ว ส่วนที่ขาอาจจะมีสีน้ำตาล หรือไม่มีก็ได้









Blue Merle

สำหรับใน blue merle จะมีมาร์กกิ้งสีน้ำตาลเหมือนกับในสี tri แต่ในส่วนที่สี tri เป็นสีดำนั้นใน blue merle จะเป็นสีเทา โดยในสีเทานั้นจะมี merle สีดำแซม เป็นหย่อมๆ










White (สีขาว) (ไม่อยู่ใน FCI Standard)

สำหรับคอลลี่สีขาวจริงๆ ก็คือมีสีขาวเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่หัวจะเป็นสี sable หรือ tri หรือ blue ก็ได้ ส่วนที่ตัวเป็นสีขาว จะเป็นขาวล้วนๆ หรือมีสีสีเดียวกับที่หัวเป็นจุด หรือเป็นวง วงเดียว หรือหลายๆวงก็ได้









ลักษณะนิสัยสุนัข คอลลี่

คอลลี่เป็นสุนัขขนาดกลาง – ขนาดใหญ่ มีทั้งคอลลี่ขนสั้น และขนยาว แรกเริ่มเดิมทีมีไว้ใช้งานในปศุสัตว์ แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และนิสัยใจคอให้เหมาะสมกับการประกวด และการเลี้ยงเล่น แต่ก็ยังคงมีนิสัยการไล่ต้อนสัตว์แฝงอยู่ลึกๆ

คอลลี่เป็นสุนัขที่เหมาะสมกับครอบครัวอย่างแท้จริง เพราะสุนัขในกลุ่มคอลลี่ (บอร์เดอร์ คอลลี่, คอลลี่, เช็ทแลนด์ ชีพด็อก) มีความฉลาดและไอคิวเป็นยอด สามารถจดจำคำสั่งต่างๆ มากมาย มีความซื่อสัตย์ ไม่ดุ ไม่ก้าวร้าว สุภาพ เข้าได้ดีกับเด็กๆ และคนชรา สามารถเป็นเพื่อนเล่นที่กระปรี้กระเปร่านอกบ้าน (วิ่งออกกำลังกายด้วยกัน โยนบอล จานร่อน หรืออื่นๆ) หรือเป็นสุนัขที่เรียบร้อยเวลาอยู่ในบ้าน คุณสามารถฝึกสอนการขึ้นรถตั้งแต่ยังเด็ก แล้วจะพบว่าการมีคอลลี่ขนยาวๆ นั่งรถไปไหนมาไหนด้วยนั้นมันช่างมีความสุขจริงๆ

คอลลี่สามารถเฝ้าบ้านได้โดยอาศัยได้แค่เสียงเห่า คอลลี่จะเห่าคนแปลกหน้าที่เดินผ่านไปมาหน้าบ้าน แต่ไม่สามารถปกป้องทรัพย์สินหรือกัดโจรขโมย บางครั้งคอลลี่จะเห่าแมวของเพื่อนบ้าน วิ่งไล่มอเตอร์ไซด์ วิ่งไล่สัตว์เล็กๆ ทั้งนี้จะเป็นมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับแต่ละตัวรวมทั้งการฝึกสอนด้วย คอลลี่ตอนเด็กๆ มักจะซนมาก แต่คุณจะเห็นพัฒนาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ที่ดีขึ้น รวมทั้งความสงบเรียบร้อยมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น อย่าเพิ่งปลงหรือเหนื่อยใจกับการซนของเค้า เพราะวัยหนึ่งความซนเหล่านี้ก็หายไป คุณควรให้เวลากับเค้ามากๆ

ลักษณะของสุนัข คอลลี่

หมายเหตุ : เมื่อสมัยก่อนประเทศไทยได้ใช้มาตรฐานตามในอเมริกาคือ AKC แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยใช้มาตรฐาน ตาม FCI ทำให้มีนอกจากจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการแบ่งกรุ๊ปแล้ว ยังจะมีการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานบางอย่างของคอลลี่ ได้แก่ ขนาดที่เล็กลงกว่า AKC และสีที่น้อยกว่า โดยจะได้กล่าวถึงในรายละเอียดต่อไปในหัวข้อนั้นๆ

คอลลี่จะมีอยู่ 2 ชนิดคือ Rough Collie (คอลลี่ขนหยาบ หรือที่เราเรียกกันว่าคอลลี่ขนยาว) และ Smooth Collie (คอลลี่ขนเรียบ หรือที่เราเรียกกันว่าคอลลี่ขนสั้น) คอลลี่ทั้งสองมีมาตรฐานที่เหมือนกันทุกๆ อย่าง จะต่างกันเพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องขน กล่าวคือ smooth collie จะมีขนที่สั้น แข็ง เต็มไปด้วยขนชั้นใน แต่ว่าเรียบไปกับลำตัว หางไม่ฟู


ลักษณะโดยรวม Rough Collie

คอลลี่แข็งแรง ตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ความกว้างและลึกของอกที่พอสมควรจะแสดงให้เห็นถึงกำลัง ส่วนความลาดเอียงของไหล่และมุมที่พอดีของขาหลัง จะแสดงถึงความเร็วและความสง่างาม ส่วนใบหน้าจะแสดงออกถึงความฉลาด

ขนและสี: โดยทั่วไปขนของคอลลี่จะฟูและหยาบ ยกเว้น บริเวณหัว และขา คอลลี่มีขน 2 ชั้น ขนชั้นนอกจะตรงและสากเวลาสัมผัส ขนที่อ่อนนุ่มหรือหยิกเป็นลอนๆถือเป็นข้อด้อย ส่วยขนชั้นในจะอ่อนนุ่มคล้ายสำลี แน่น และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ขนโดยรวมดูหนา ฟู โดยเฉพาะแผงคอและระบายตรงก้นจะหนาและฟูเป็นพิเศษ ขนที่ใบหน้าจะเรียบเช่นเดียวกับขนที่หน้าขาทั้ง 4 ข้าง แต่ด้านหลังของขาหน้าจะมีขนเป็นระบายๆออกไป ขนหางยาวจะพองฟู ขนตรงสะโพกจะยาวและแน่น คอลลี่ที่ไม่มีขนชั้นในถือว่าผิดมาตรฐาน

สีตามมาตรฐาน FCI จะมีอยู่ 3 สี ได้แก่ Sable and White, Tricolour และ Blue Merle โดยทั้ง 3 สี จะต้องมีมาร์กกิ้งสีขาวตามส่วนต่างๆต่อไปนี้ ได้แก่ ที่อก ที่คออาจจะขาวรอบคอหรือไม่รอบคอก็ได้ เท้าทั้ง 4 ข้าง และปลายหาง บางครั้งอาจจะมีสีขาวที่ดั้งจมูก หรือที่หัว(ดูรูปได้ที่หน้าขนและสี)

แต่สีตามมาตรฐาน AKC มีอยู่ 4 สี คือ Sable and White, Tricolour , Blue Merle และ White
  • พวกที่มีสี Sable and White นั้นต้องมีสี sable เป็นพื้น แล้วมีสีขาวแซมบริเวณอก คอ ขา เท้าและปลายหาง บางตัวอาจมีแถบสีขาวพาดอยู่กลางหน้าไล่จากกะโหลก ผ่านระหว่างตามาจรดจมูก
  • พวกที่มีสี Tri-color คือมีสีพื้นเป็นสีดำ แซมสีขาวบริเวณอก คอ ขา เท้าและปลายหาง มีเฉดสีดำบนหัวและขา
  • พวกที่มีสี Blur Merle คือมีสีพื้นเป็นสีน้ำเงิน-เทา และ ดำ แซมสีขาวบริเวณอก คอ ขา เท้าและปลายหาง ปกติมีเฉดสีแทนบนหัวและขาเหมือนพวก Tri-color
  • พวกที่มีสีขาว คือมีสีพื้นเป็นสีขาว แซมด้วยสี Sable หรือ Tri-color หรือ Blur Merle ก็ได้
หัว: หัวจะต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับตัว หัวที่เทอะทะจะทำให้ดูไม่คล่องแคล่ว สดใส ด้านข้างของใบหน้าจากหูจะต้องคล่อยๆ เรียวเล็กลงไปจนถึงจมูกโดยไม่มีแก้มป่องออกมา และ2 ข้างต้องสมมาตรกัน จมูกสีดำ หัวกะโหลกแบน และเส้นสันจมูกจะต้องเป็นเส้นตรงเมื่อมองจากด้านข้าง ไม่แอ่น ไม่งุ้ม ไม่โค้ง ความยาวของ 2 ส่วนนี้จะต้องเท่ากันโดยแบ่งออกจากกันโดย stop (จุด stop ที่ถูกต้องจะต้องอยู่ที่จุดกึ่งกลางของมุมตาด้านใน) stop ในคอลลี่จะบางมากๆ แต่ก็ยังมองเห็น ต่างกันกับ stop ในพันธุ์เช็ทแลนด์ที่เห็นชัดเสมือนขั้นบันได สันจมูกคอลลี่จะต้องยาวตรงแต่ไม่เห็นเป็นเหลี่ยม ความลึกของกะโหลกจะต้องพอดี ไม่มากจนเกินไป ฟันควรจะแข็งแรง และสบกันแบบกรรไกร คือด้านหน้าของฟันล่างจะสัมผัสกับด้านในของฟันบน ขนาดฟันพอเหมาะ ช่องว่างระหว่างฟันเล็กน้อยไม่ถือเป็นเรื่องจริงจังนัก คิ้วจะนูนออกมาพียงเล็กน้อย หัวกระโหลกแบน และท้ายทอยไม่สูงเกินไป ความกว้างของกระโหลกจะต้องน้อยกว่าความลึก

ตา: ตาเป็นรูปแอลมอนต์ขนาดกลาง และควรจะอยู่ลึกลงไปในกระโหลก ไม่นูนออกมา ตาสีเข้ม ไม่ควรมีสีเหลือง ตาจะต้องดูดีสุขภาพดี แสดงออกถึงความฉลาด กระตือรือร้น ในสี Blue merle ควรจะมีตาสีน้ำตาลเข้ม แต่บางครั้งก็อาจจะมีสีฟ้าในบางส่วนของตา ข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งหมด

หู: หูควรมีขนาดเล็กและไม่ชิดกันจนเกินไป หูจะต้องตั้งขึ้นและปลายตกลงมา 1/4 ของหู สำหรับตัวที่หูตั้งหรือว่าหูตูบถือเป็นข้อด้อย ปกติหูลู่ไปทางด้านหลังได้ แต่ว่าตื่นตัวหูจะต้องหันมาทางด้านหน้า

คอ: คอแข็งแรง มีกล้ามเนื้อ ล่ำ มีแผงคอที่หนา คอยาวพอสมควร คอที่ยาวจะแสดงถึงความสง่างาม คอสั้นจะดูเทอะทะ

ลำตัว: ลำตัวแข็งแรง แน่น เต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ ความยาวของลำตัวจะสัมพันธ์กับความสูง ซี่โครงโค้งเหมาะสม ไหล่ลาดเอียงพอเหมาะ อกลึกถึงศอก หลังแข็งแรงได้ระดับ รองรับโดยสะโพกและต้นขาที่แข็งแรง

ขา: ขาหน้าเมื่อมองจากด้านหน้าจะต้องเป็นเส้นตรง ไม่คด หรือแอ่นเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ 2 ข้างห่างกันพอเหมาะ สำหรับขาที่แคบหรือกว้างเกินไปเป็นข้อด้อย ท่อนขาหน้ามีเนื้อมีหนังไม่แห้งลืบ ข้อเท้ายืดหยุ่นแต่แข็งแรง ท่อนขาหลังมีเนื้อน้อยกว่านิดนึง แต่แน่นไปด้วยกล้ามเนื้อ และเอ็น ขาหลังท่อนล่างและเข่าขาหลังโค้งทำมุมได้รูป เวลามองจากทางด้านหลัง ขาควรจะขนานกันห่างกันเท่ากับสะโพก ถ้าขาชิดเข้าแล้วบานออกตรงท่อนล่างเรียกว่า cow hock ถือว่าผิดมาตรฐาน สำหรับตัวที่เข่าตรงไม่มีมุมถือเป็นข้อด้อย เท้าควรเป็นรูปไข่ นิ้วโค้งได้รูปและนิ้วชิดติดกัน สำหรับเวลาที่สุนัขไม่ได้เคลื่อนไหว หรือยืนอยู่นิ่งๆ เท้าจะต้องชี้ตรงไปทางด้านหน้าเสมอทั้ง 4 เท้า

การเคลื่อนไหว: การเดินหรือวิ่งต้องนุ่นมนวล สง่างาม ไม่ติดขัด ดูกลมกลืน เวลาวิ่งเหยาะๆ ขาหน้าจะต้องสาดไปข้างหน้า ศอกไม่กาง ไม่วิ่งไขว้ไปมา ขาหลังเป็นตัวขับเคลื่อน เมื่อมองด้านข้าง ย่างก้าวยาวพอประมาณหลังตรงได้ระดับ เมื่อมองด้านหน้าขาหน้าและขาหลังควรเป็นแนวเดียวกันกับลำตัว

หาง: กระดูกหางควรยาวถึงข้อขาหลังหรือต่ำกว่า หางตรงถึงงอเล็กน้อย แต่ปลายต้องไม่ตวัดขึ้นมาคล้ายตะขอ เวลาปกติหางตก แต่ว่าเวลาวิ่งหางจะยกขึ้นแต่ไม่ควรสูงเกินระดับหลัง

ขนาด: การวัดความสูงจะวัดที่หัวไหล่

ตามมาตรฐาน FCI ตัวผู้สูง 22- 24 นิ้ว ( 56- 61 ซม. ) ส่วนตัวเมียสูง 20- 22 นิ้ว (51- 56 ซม. )

น้ำหนักตาม FCI ตัวผู้ หนัก 20.5- 29.5 กก. ตัวเมียหนัก 18- 25 กก.

แต่มาตรฐาน AKC ตัวผู้จะสูง 24-26 นิ้ว ส่วนตัวเมียสูง 22-24 นิ้ว

คอลลี่ขนสั้น ใช้มาตรฐานในการพิจารณาเหมือนกับคอลลี่ขนยาวทุกประการ ยกเว้นว่าต้องมีขนสั้น หนา เรียบ นุ่ม และมีขนชั้นในที่ยาว

ข้อบกพร่องร้ายแรง:
  • จมูกงุ้ม
  • หูตั้ง หรือหูตูบ
  • ไม่มีขนชั้นใน
  • สูงหรือเตี้ยกว่ามาตรฐาน

คอลลี่ (Collie)

จริง ๆ แล้วคอลลี่ไม่ได้มีแต่แบบขนยาวเท่านั้น แต่ยังมีคอลลี่ขนสั้นด้วย ขนที่ยาวจะให้สัมผัสที่หยาบกว่าขนสั้น จึงเรียกคอลลี่ขนยาวว่า rough-coated (ขนหยาบ) ส่วนคอลลี่ขนสั้นเรียกว่า smooth-coated (ขนเรียบลื่น) ในสมัยก่อนผู้คนคุ้นเคยและนิยมคอลลี่ขนยาว แต่ปัจจุบันมีคอลลี่ขนสั้นพันธุ์ดี ๆ มากมาย และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

คอลลี่เป็นสุนัขพันธุ์เก่าแก่มีมานานแล้ว ในสมัยโบราณมนุษย์ใช้มันคุมฝูงแกะไปตลาด คอลลี่ขนสั้นนั้นได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งสุนัขต้อนปศุสัตว์เลยทีเดียว มีการบันทึกมาตรฐานสายพันธุ์คอลลี่ทั้งสองชนิดไว้ด้วย แต่เมื่อประมาณ 200 ปีที่แล้ว เจ้าคอลลี่ทั้งสองชนิดต่างถูกตราว่าเป็นสุนัขใช้งานเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีการบันทึกมาตรฐานอะไรและไม่จำเป็นต้องมีเพดดีกรีด้วย ทั้งที่จริง ๆ แล้วพวกมันเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์และดีพอที่จะถูกบันทึกไว้ใน stud book (หนังสือรวบรวมสายพันธุ์สุนัข)ได้

หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของสุนัขพันธุ์คอลลี่นั้นเป็นรูปภาพพิมพ์ไม้ ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ The History of Quadrupeds เขียนโดย Thomas Bewick ในช่วงก่อนปีค.ศ.1800 หนังสือนี้บรรยายถึงคอลลี่ขนยาวว่า เป็นสุนัขเลี้ยงแกะ สูงแค่ 14 นิ้ว ตัวเล็ก กะโหลกกว้าง ปกติมีสีดำหรือดำ-ขาว ส่วนคอลลี่ขนสั้นนั้นเรียกกันว่า "ban dog" ตัวสูงใหญ่กว่าพวกขนยาวมาก สืบเชื้อสายมาจากพวกสุนัขตัวใหญ่แบบพวกมาสตีฟ
ต่อมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นักผสมพันธุ์สุนัขเริ่มสนใจคอลลี่ ประกอบกับเริ่มมีการบันทึกเพดดีกรีกันอย่างจริงจัง สุนัขพันธุ์คอลลี่จึงพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่ตัวสูงขึ้นเท่านั้นแต่ยังมีลักษณะสายพันธุ์แบบบริสุทธิ์ หมายถึงไม่มีลักษณะของสายพันธุ์อื่นเข้ามาเจือปนอีกด้วย

ในปี 1867 คอลลี่ขนยาวชื่อ "Old Cookies" ถือกำเนิดขึ้น เจ้าตัวนี้ได้รับเครดิตว่าเป็นคอลลี่ขนยาวที่ลักษณะสวยงามโดดเด่น ทั้งยังนำชื่อเสียงและความนิยมชมชอบมาสู่สุนัขพันธุ์นี้อย่างมากมายจนนำไปสู่การพัฒนาให้มีคอลลี่สีน้ำตาลเข้มเกิดขึ้น

ต่อมาไม่นานคอลลี่ก็มีหลากสีสันมากขึ้น เช่น แดง buff , mottle ในหลายๆ เฉด, น้ำตาลเข้ม แต่ที่มีมากคือได้แก่สีดำ สีแทนและขาว สีดำและขาว และสี tortoise shell ที่ปัจจุบันนี้เรียกกันว่าสี blue merles

การบันทึกเพดดีกรีของคอลลี่ในช่วงแรก ๆ นั้นสั้นแสนสั้น หนังสือ Stud Book ของอังกฤษชุดแรกมี "หมาเลี้ยงแกะและ Scotch Collies" อยู่ 78 ตัว ลงทะเบียนกันต่างปีต่าง ค.ศ.มาเรื่อย ตัวสุดท้ายที่ลงทะเบียนใน Stud Book เล่มนี้คือเมื่อ ค.ศ.1874 ในจำนวนนี้มี 15 ตัวเท่านั้นที่มีการบันทึกเพดดีกรี แต่กระนั้นก็ไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรเพราะย้อนประวัติของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ได้เพียงสามรุ่นเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะเจ้าของสุนัขภูมิใจในตัวมันมากจนไม่เห็นความจำเป็นต้องบันทึกเพดดีกรีไว้ เข้าทำนองว่า สำเนียงส่อภาษากิริยาส่อสกุล เพราะฉะนั้นแค่ดูจากลักษณะท่าทางก็จะรู้ได้ว่าสุนัขของข้าของดี

หลังจากนั้นไม่นาน วาสนาก็มาถึงคอลลี่เพราะจากที่เคยเป็นสุนัขวิ่งไล่แกะอยู่ตามท้องทุ่ง ก็ได้มาเฉิดฉายอยู่ในพระราชวัง เนื่องจากวันหนึ่งควีนวิคตอเรียได้เสด็จมาที่บัลมอรัล ทอดพระเนตรเห็นคอลลี่น่ารักจับใจ ซินเดอเรลล่าภาคหมา ๆ ก็ได้เริ่มต้น ณ จุดนี้

ในปี 1886 ได้มีการแบ่งชนิดของคอลลี่เป็นพวกขนยาวและขนสั้นอย่างชัดเจน เพราะเดิมไม่มีการแบ่งทำให้มันถูกจัดให้อยู่ในชนิดเดียวกันเมื่อมีการแข่งขัน เมื่อแบ่งแล้วกลายเป็นว่าพวกนักผสมพันธุ์สุนัขชาวอังกฤษก็ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นใด ๆ ต้องปรับปรุงรูปร่างและขนาดของคอลลี่อีกต่อไป ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของคอลลี่ส่วนใหญ่จึงเกิดขึ้นจากฝั่งอเมริกามากกว่า แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ไม่ได้มากมายอะไรนัก เพียงแต่อเมริกาทำให้คอลลี่ตัวใหญ่และหนักขึ้นนิดหน่อยเท่านั้น

สำหรับสถานะของคอลลี่ในอเมริกานั้น เดิมก็เป็นเพียงสุนัขเลี้ยงแกะเช่นกัน แต่เมื่อปี 1877 มีการนำคอลลี่ออกแสดงในงานโชว์ในนิวยอร์คโดย Westminster Kennel Club ในคราวนั้นพวกมันถูกจัดให้อยู่ในประเภท "Shepherd Dogs, or Collie Dogs" มีคอลลี่สองสามตัวเข้าร่วมโชว์ตัว ถือเป็นจุดเริ่มต้นแนะนำตัวในฐานะสุนัขมีเชื้อมีแถวในอเมริกา เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในปีถัดมา คือมีคอลลี่สองตัวถูกสั่งตรงมาจาก Queen Victoria's Royal Balmoral Kennel เพื่องานโชว์นี้โดยเฉพาะ สร้างความตื่นเต้นสนใจแก่ชาวอเมริกาผู้รักหมาอย่างมาก ในไม่ช้ามันก็กลายเป็นหมาของผู้ดีในอเมริกาไป และแน่นอนว่าหลังจากนั้นก็มี kennels สำหรับคอลลี่เกิดขึ้นมากมายในอเมริกา คอลลี่จากอังกฤษถูกนำเข้าด้วยราคาที่แพง มหาศาล ห้าสิบปีต่อมาเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำรอยที่ญี่ปุ่น นักผสมพันธ์สุนัขชาวอเมริกันหลายคนถูกชักชวนให้ขายคอลลี่ตัวงาม ๆ ให้ชาวญี่ปุ่นด้วยราคาที่สูงลิบลิ่ว ในขณะเดียวกันความนิยมสั่งซื้อคอลลี่จากอังกฤษก็ค่อย ๆ ลดลงจนเกือบจะไม่มีการสั่งซื้อจากอังกฤษอีกเลย

ปัจจุบันนี้คอลลี่เปลี่ยนสถานะจากสุนัขสำหรับฟาร์มมาเป็นสุนัขสำหรับครอบครัว เปลี่ยนความสามารถเฉพาะตัวจากการเลี้ยงแกะมาเป็นเลี้ยงเด็กได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพราะมันมีนิสัยซื่อสัตย์จงรักภักดี มีสัญชาตญาณของการระแวดระวังและปกป้อง นอกจากนี้ยังมีบุคลิกท่วงท่าที่สง่างาม จากสถิติของ American Kennels Club ชาวอเมริกันโหวตให้คอลลี่เป็น 1 ใน 20 ยอดสุนัขในดวงใจติดต่อกันมาหลายปีแล้ว คอลลี่เป็นตัวอย่างของสุนัขที่มีการประชาสัมพันธ์ดี มีชมรมผู้เลี้ยงที่สนับสนุนดูแลสุนัขพันธุ์นี้อย่างเป็นจริงเป็นจังชื่อ Collie Club of America ตั้งขึ้นในปี 1886 (สองปีหลังจากมีการตั้ง American Kennels Club) ชมรมนี้กระตือรือร้นที่จะโฆษณาประชาสัมพันธ์ทุก ๆ ข่าวคราวของคอลลี่ มีจุดประสงค์ให้คนรู้จักและอยากเลี้ยงกันมาก ๆ ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 3,500 กว่าคน งานโชว์แต่ละปีจะมีคอลลี่ถึง 400 กว่าตัวทั่วอเมริกามาเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จสูงสุดในการสร้างชื่อเสียงให้คอลลี่เกิดจากหนังสือชุดของ Albert Payson Terhune ชื่อ Lad : A Dog คนอเมริกันรุ่นแล้วรุ่นเล่านิยมอ่านหนังสือชุดนี้ จนในที่สุดก็ได้มีการนำมาสร้างเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ ชื่อเรื่องว่า Lassie เคยมาฉายในเมืองไทยอยู่พักหนึ่ง ทำเอาลูกเด็กเล็กแดง (รวมทั้งผู้ใหญ่หลายคน) ร่ำร้องอยากได้หมาอย่างแลสซี่กันเป็นแถว เรียกได้ว่าซีรีส์ทางโทรทัศน์เรื่องนี้ทำให้คอลลี่มัดใจคนทั่วโลกไว้ได้อย่างแท้จริง จนชื่อสายพันธุ์ที่ถูกต้องว่าคอลลี่ถูกเรียกแทนที่ว่าแลสซี่ไปเลย.


รายละเอียดที่จัดทำในส่วนของ คอลลี่

คอลลี่ (Collie)

ลักษณะของสุนัข คอลลี่

ลักษณะนิสัยสุนัข คอลลี่

ลักษณะขนและสี

เทคนิคการป้อนยาเม็ดสุนัขแบบง่ายๆ

ในการให้ยาเม็ด (Pill) ทางปากแก่สุนัข เมื่อสุนัขอ้าปากให้วางยาที่โคลนลิ้น สุนัขจะกลืนยาเม็ดลงคอไปได้ ถ้าวางยาเม็ดที่ปลายลิ้นหรือบริเวณอื่นในปาก สุนัขจะสามารถขย้อนยาเม็ดนั้นออกมาและคายทิ้งไป ทำให้เสียยาไป ในการป้อนยาเม็ดด้วยมือจะต้องจับยาเม็ดเข้าไปในปากต้องมีโอกาสสัมผัส กับน้ำลายสุนัขภายในปากซึ่งมีโรคติดต่อบางอย่างผ่านมาในน้ำลายสุนัขและติดถึงคนได้ เช่น โรคพิษสุนัขบ้า ฉะนั้นการที่จะป้อนยาเม็ดด้วยมือนั้นต้องทราบประวัติสุนัขตัวนั้นอย่างแน่นอนว่า ไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ทางที่ดีควรป้อนยาเม็ดโดยใช้เครื่องมือ เช่น Balling Gun หรือปากคีบเป็นต้น ซึ่งการใช้เครื่องมือดังกล่าวนี้มือคนป้อนสุนัขจะไม่สัมผัสน้ำลายสุนัขเลยวิธีการป้อนยาเม็ดด้วยมือ ในการป้อนยาเม็ดด้วยมือนั้น อาจใช้มือไหนจับหัวสุนัขก็ได้ ขึ้นอยู่กับความถนัด สมมุติว่าใช้มือขวาเป็นมือที่ใช้จับหัวสุนัข โดยใช้ฝ่ามือคว่ำและคร่อมสันจมูกบริเวณ Interdental Space ให้สันจมูกอยู่ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วที่เหลือทั้ง 4 ท่อน แขนของมือขวาวางทาบไปบนหน้าผากของสุนัขซึ่งท่อนแขนนี้จะช่วยยกให้หัวสุนัขแหงนขึ้นด้วย แต่ทั่ว ๆ ไป สุนัขไม่ยอมอ้าปาก ต้องใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วที่เหลือทั้ง 4 กดริมฝีปากให้แรงพอที่จะให้ริมฝีปากนั้น กดกับเหงือกและฟันทำให้สุนัขยอมอ้าปากได้บางรายแทนที่จะใช้ฝ่ามือคร่อมขากรรไกรกลับมาจับที่ขากรรไกรล่างแทนก็ได้ เมื่อสุนัขอ้าปากแล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วกลางของมือซ้ายคีบยาเม็ดค่อย ๆ ไปวางที่โคนลิ้นสุนัข รีบชักมือออกพร้อมกับหุบปากสุนัขทันที พยายามอย่าให้สุนัขอ้าปาก เพราะว่าจะขย้อนยาเม็ดดังกล่าวออกมา สังเกตดูว่าสุนัขกลืนยาหรือไม่โดยดูที่คอสุนัข ไม่ควรใช้มือไปขยำหรือนวดที่คอเพื่อช่วยให้กลืนยาเม็ด เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรและยังอาจทำให้สุนัขไม่สามารถกลืนยาได้บางครั้งการให้ยาเม็ดไม่จำเป็นต้องป้อน ในกรณีนี้ทำได้ง่ายมาก เพียงแต่นำยาเม็ดนั้นแทรกลงไปในก้อนเนื้อกล้วย หรือฮอทด็อกหรืออาหารที่สุนัขชอบกินและโปรดปรานนำมาสอดไส้ใส่ยาเข้าไปแล้ววางให้สุนัขกินก็ได้ แต่สุนัขบางตัวมีความฉลาดและรู้ทัน จะไม่ยอมกินซึ่งจำเป็นต้องป้อน อาจจะด้วยมือ หรือใช้เครื่องมือป้อนยาเม็ดนั้นช่วยในการป้อนยาเม็ดนั้นถ้ามือไปสัมผัสกับน้ำลายสุนัข หลังจากเสร็จแล้ว ควรล้างมือทันทีเพื่อรักษาความสะอาดการจับบังคับสุนัขเพื่อให้กินยาประเภทน้ำ ในการป้อนยาประเภทน้ำนั้นค่อนข้างจะง่ายกว่า การป้อนยาประเภทเม็ดเพราะว่าไม่จำเป็นต้องอ้าปากสุนัขแต่อย่างใด สามารถป้อนได้ในขณะที่สุนัขยังถูกผูกปากอยู่ได้ โดยอาศัยหลักทางกายภาพที่ว่า มุมฝีปากด้านข้างสุนัขนั้น มีความยืดหยุ่นได้ ใช้มือหนึ่งจับที่ปลายปากโดยรอบทั้งขากรรไกรล่างและขากรรไกรบนไว้อีกมือหนึ่งแยกริมฝีปากล่างและดึงมุมปากออกมา ก็จะเกิดเป็นลักษณะกระพุ้งหรือถุง ของแก้มสามารถที่จะใช้ช้อน กระบอกฉีดยาหรือใช้เครื่องใส่ยาน้ำ สำหรับป้อนฉีดเข้าไปในกระพุ้งแก้ม ขณะเดียวกันก็พยายามยกหน้าสุนัขให้เชิดขึ้นเล็กน้อย ข้อสำคัญ เครื่องมือที่ใช้ใส่ยาสำหรับป้อนนั้นไม่ควรทำด้วยวัสดุประเภทแก้วหรือสิ่งที่แตกง่าย เพราะว่าสุนัขอาจจะกัดหรือดิ้นและหล่นแตก อาจจะบาดปากสุนัขหรือมือผู้ป้อนได้ เครื่องมือเฉพาะสำหรับป้อนยาน้ำเรียกว่า”Drenchong Spoon” จึงจะปลอดภัยทั้งตัวท่านและสัตว์เลี้ยง

วิธีดูแลสุนัขช่วงหน้าร้อน

ร่างกายของสุนัขจะระบายความร้อนทางปาก ลิ้นและที่อุ้งเท้าโดยไม่มีต่อมเหงื่อตามรูขุมขนตามผิวหนังเหมือนคนเรา ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากสุนัขทำลิ้นห้อยอยู่ตลอดเวลาและบางครั้งก็เอาเท้าจุ่มน้ำก็ปล่อยให้ทำไปเพราะเป็นการระบายความร้อนโดยธรรมชาติ อาการฮีทสโตรกเกิดจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้กับอากาศร้อนได้ทัน การวิ่งออกกำลังกายมากๆ ในช่วงอากาศร้อน หรืออาการขาดน้ำ หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนสูงกว่าอุณหภูมิของร่างกายเป็นเวลานานๆ ร่างกายไม่สามารถปรับระบบระบายความร้อนได้ทัน โดยปกติอุณหภูมิของสุนัขจะอยู่ที่ 38-39 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาที่เกิดจากอากาศไม่ใช่เกิดจากอาการไข้ติดเชื้อก็จะมีอาการหายใจแรง หอบ น้ำลายเยอะมาก เหงือกแดงมาก หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก อาเจียนออกเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด มีจุดแดงตามร่างกาย กล้ามเนื้อกระตุก อุณหภูมิร่างกายสูง จนเกิดอาการชัก หยุดหายใจและตายได้ ซึ่งจะมีผลทำให้อวัยวะต่างๆได้รับผลกระทบดังนี้
  • เซลล์ระบบประสาทถูกทำลาย มีเลือดออกที่สมอง
  • ระบบหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • เยื่อบุลำใส้ขาดเลือดและเป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้
  • ตับและท่อน้ำดี เซลล์ตับตาย
  • ระบบขับถ่ายผิดปกติ ทำให้เกิดโรคร้ายแรงเฉียบพลันได้
  • เลือดเข้มข้นเกินไป เกล็ดเลือดต่ำ ระบบเลือด น้ำเหลือง และภูมิคุ้มกัน
  • บกพร่อง มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด
  • เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ขาดเลือดและน้ำหล่อเลี้ยงเพียงพอ
เมื่อมีอาการเช่นนี้ต้องพาไปหาแพทย์โดยเร็วที่สุด การปฐมพยาบาลก่อนนำพบแพทย์ทำได้โดยการลดอุณหภูมิร่างกายลงโดยการนำน้ำมาชโลมให้ทั่วทั้งร่างกายหรือทำให้สุนัขชุ่มน้ำ ใช้สารระเหยทำให้เกิดความเย็นเช่นแอลกอฮอล์เช็ดบริเวณอุ้งเท้า ใต้รักแร้ และบริเวณขาหนีบ เปิดพัดลมช่วยถ่ายเทความร้อน

การป้องกันคือสิ่งที่ดีที่สุดเราสามารถทำได้โดย
  • ต้องมีน้ำให้กินตลอดเวลาไม่ให้ขาด
  • ไม่พาออกกำลังกายในช่วงบ่ายหรือเวลาที่อากาศร้อนจัด
  • หาที่ร่มหรือที่หลบแดดมีอากาศถ่ายเทให้อยู่ในช่วงกลางวัน
  • เมื่อไปไหนกับสุนัขไม่ให้เก็บไว้ในรถโดยเด็ดขาด หรือถ้าจำเป็นต้องจอดในที่ร่มมีอากาศถ่ายเทได้ เปิดกระจกออกให้มีอากาศระบายและมีน้ำดื่มไว้ให้ด้วย มีสุนัขจำนวนมากที่ตายโดยที่เจ้าของคิดว่าไปไม่นานและเป็นสาเหตุที่ใหญ่สุดที่เจอบ่อยที่สุด
  • การให้อาหารในตอนเย็นต้องให้หลังจากแดดร่มแล้วหรือยืดเวลาออกไปให้หลังพระอาทิตย์ตก เนื่องจากสุนัขจะไม่กินอาหารหากอากาศร้อน
  • อาบน้ำให้หรือราดน้ำให้ทั่วและเช็ดตัวให้หมาดๆ ปล่อยให้แห้งเองโดยไม่ต้องไดร์
  • อาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำหมาดๆ ปูให้นอนในช่วงกลางวัน แต่ต้องเอาออกในช่วงกลางคืนป้องกันปอดบวม
  • ใช้พัดลมเป่าหรือให้อยู่ในห้องแอร์เลย
การที่สุนัขจะกลับมาหายดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าอวัยวะถูกทำลายลงไปมากน้อยเพียงไร ดังนั้นเราควรป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดอาการเช่นนี้ เพราะไม่มีอะไรที่จะดีไปกว่า “กันไว้ดีกว่าแก้”


ไฮเปอร์เทอเมีย Hyperthermia หรือ ฮีทสโตรก Heat Stroke

คืออาการที่อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น เนื่องจากร่างกายได้รับความร้อนจากภายนอกมากขึ้น หรือเนื่องจากร่างกายเกิดความร้อนภายในมากขึ้น หรือเนื่องจากการระบายความร้อนออกจากร่างกายน้อยลง สาเหตุสำคัญก็คือ
  • การที่อากาศภายนอกร้อนจัดเป็นเวลานาน
  • เกิดจากให้สัตว์ออกกำลังกายมากเกินไป โดยเฉพาะเมื่อขณะมีความชื้นในอากาศสูง
  • สัตว์อ้วนเกินไป
  • สัตว์มีขนดก หนา และจำเป็นต้องอยู่ในที่ที่การระบายอากาศไม่ดีพอ เช่น การขนส่งสัตว์โดยทางเรือ
  • เนื่องจาก Dehydration ซึ่งทำให้การระบายอากาศโดยการระเหยของน้ำในเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลง
  • การให้ยาสงบประสาท กับสัตว์ในขณะที่มีอากาศร้อน จะทำให้เกิด ไฮเปอร์เทอร์เมียได้ Metabolic rate จะสูงขึ้นประมาณ 40-50% Glycogen ที่เก็บสะสมไว้ในตับจะถูกนำมาใช้ไปอย่างรวดเร็ว และพลังงานพิเศษของร่างกายจะได้มาจากการเพิ่ม Protein metabolism สูงขึ้น เนื่องจาก Hyperthermia ทำให้สัตว์ปากแห้ง และการทำงานของระบบการหายใจผิดไป จึงทำให้เกิดการเบื่ออาหาร ซึ่งมีผลทำให้น้ำหนักตัวลดลง และกล้ามเนื้อขาดพลัง เกิดภาวะ hypoglycemia และ non-protein nitrogen ในเลือดสูง
สัตว์จะกระหายน้ำเนื่องจากปากแห้ง อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิของเลือดสูงขึ้น และเนื่องจากความดันเลือดตกอันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเส้นเลือดส่วนปลาย อัตราการหายใจสูงขึ้นเนื่องจากการที่อุณหภูมิสูงขึ้นจะไปมีผลต่อ respiratory centre ปัสสาวะจะลดน้อยลงเนื่องจากจำนวนเลือดที่ผ่านไตน้อยลง อันเป็นผลสือเนื่องมาจากการขยายตัวของเส้นเลือดส่วนปลาย

เมื่อเกิด Hyperthermia ถึงขั้นอันตรายสูงสุด จะมีผลคือระบบประสาทจะถึงขั้นอันตรายสูงสุด จะมีผลคือระบบประสาทจะถูกกดการทำหน้าที่ตามปกติของมัน และระบบการหายใจก็จะถูกกดเช่นเดียวกันอันเป็นผลทำให้สัตว์ตาย เนื่องจากกการล้มเหลวของระบบการหายใจ ระบบการไหลเวียนของเลือดก็จะล้มเหลวเช่นกัน เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนกำลำง ถ้าภาวะ Hyperthermia ไม่สูง และนานเกินไปก็จะมีผลกระทบกระเทือนต่อ metabolism ภายในร่างกายเท่านั้น และมักจะเกิด degenerative changes ของเนื้อเยื่อต่างๆ ด้วย 

อาการที่สัตว์แสดงให้เห็น คือ
  • ในระยะแรกๆ ก็คืออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นกว่าปกติ อัตราการเต้นของหัวใจ และการหายใจจะเพิ่มขึ้น ชีพจรอ่อนลง ในระยะแรกจะมีเหงื่อออกมาก 
  • ระยะต่อไปจะไม่มีเหงื่อออกมาเลย น้ำลายไหล กระวนกระวายต่อมาก็จะเริ่มซึม เดินโซเซ ในระยะแรกสัตว์จะกระหายน้ำจัด และจะพยายามอยู่ในที่เย็น เช่นนอนแช่น้ำ ต่อมาเมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงถึง 106 F. จะถึงขั้นหายใจหอบ ต่อจากนั้นจะหายใจตื้นไม่เป็นจังหวะ ชีพจรเร็วมาก และอ่อน 
  • สุดท้ายถึงขั้น collapse ชัก และโคม่า ส่วนมากสัตว์ทุกชนิดตายเมื่ออุณหภูมิในร่างกายสูงถึง 107-109 F. ส่วนสัตว์ท้องอาจจะแท้งได้ถ้าระยะเวลาที่เกิด Hyperthermia นาน
การวินิจฉัยโรค

ต้องแยกให้ออกระหว่าง Hyperthermia กับ อาการไข้ และโลหิตเป็นพิษ (Septicemia) สำหรับโลหิตเป็นพิษจะพบมีจุดเลือดออกที่ muscous membrane และบางครั้งพบที่ผิวหนังด้วย และในการเพาะเชื้ออาจจะพบแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคนอกจากนี้การตรวจ และสังเกตสิ่งแวดล้อมมีส่วนช่วยอย่างมากในการหาสาเหตุของ Hyperthermiaการรักษา

ใช้วิธีประคบเย็น(cold applications) จะได้ผลดีนอกจากนี้การให้ยาพวกซาลิซีเอท (Salicyate) เช่น แอสไพริน ก็ช่วยได้มากในกรณีเช่นนี้ โดยให้กินสำหรับม้า และโคให้ในขนาด 8-60 กรัม สุกร 1-3 กรัม สุนัข 0.3-1 กรัม นอกจากนี้ควรให้ยาสยบประสาท (Tranqulizing drugs) เช่น Largactil (chlorpromazine hydrochloride) เพื่อระงับอาการกระวนกระวาย นอกจากนั้นควรให้ยาช่วยประกอบการรักษาด้วย เช่นการฉีดกลูโคส และโปรตีน และให้สัตว์ป่วยอยู่ในที่ร่ม มีการระบายอากาศดี มีน้ำให้กินเพียงพอ

ลำดับไอคิวสุนัข

ในความเฉลียวฉลาดหรือที่เรียกว่าไอคิวของสุนัขหรือนั้นกล่าวกันว่ามีสติปัญญาเทียบเท่ากับเด็กอายุกว่าสิบขวบเลยทีเดียว เชื่อกันว่าเค้าก็ฝันได้เหมือนคนเหมือนกัน ตอนนี้เค้าก็อาจกำลังฝันหวานถึงเราหรือฝันน้ำลายยืดว่ากำลังแทะกระดูกชิ้นโตอยู่ก็ได้นะ แล้วสังเกตุมั้ยว่าบางครั้งเค้าก็ยิ้มให้เรา

ความน่ารักและนิสัยของเค้านั้นก็มีความแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่ได้มาจากปู่ย่าตาทวดที่สืบทอดกันมา บางสายพันธุ์ก็อาจสอนให้ทำอะไรได้หลายอย่างหรือยากง่ายแตกต่างกันไป ซึ่งก็เป็นความสามารถเฉพาะตัวกันไป อย่างเช่นเจ้าโกลเดนนี่แทบไม่ต้องสอนก็วิ่งไปเก็บของมาให้เราได้แล้ว บางตัวก็ดื้อแสนดื้อกันจังก็เพราะสัญชาติญาณสัตว์ป่าของเค้านั่นเอง

ดร.สแตนเลย์ โคเรนท์ แห่งมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย ในแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ได้จัดอันดับไอคิวสุนัขตามความสามารถในการเรียนรู้จากการฝึก ส่วนพันธุ์ต่างๆนั้นมีหน้าตาอย่างไรก็ลองคลิ๊กไปดูจากลิ้งหมาพันธุ์ต่างๆซ้ายมือกันเอาเองนะ เจ้าโกลเดนหรือสุนัขของคุณจะอยู่อันดับไหนบ้าง ลองไปดูกันดีกว่า

1. บอเดอร์ คอลลี่
2. พุดเดิล
3. เยอรมัน เชฟเฟอร์ด
4. โกลเดน รีทรีฟเวอร์
5. โดเบอร์แมน
6. เชทแลนด์ ชีพด็อก
7. ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์
8. ปาปิยอง
9. ร็อตไวเลอร์
10. ออสเตรเลี่ยน แคทเทิลด็อก
11. เวลช์คอร์กี้
12. มินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์
13. อิงลิช สปริงเกอร์ สแปเนียล
14. เบลเจียนเทอร์เชน
15. เบลเจียนชีพด็อก
16. คอลลี่ คีชอนด์
17. เยอรมัน ชอร์ทแฮร์ พอยเตอร์
18. อิงลิชค็อกเกอร์ สแปเนียล,
19. สแตนดาร์ด ชเนาเซอร์
20. บริตตานี สแปเนียล
21. คอกเกอร์ สแปเนียล
22. ไวมาราเนอร์
23. เบลเจียน มาลิโนส์,
24. เปอร์นีส เมาน์เทนด็อก
25. ปอมเมอเรเนียน
26. ไอรีสวอเตอร์ สแปเนียล
27. วิสซิลล่า
28. คอร์ดิแกน เวลช์ คอร์กี้
29. พูลิ
30. ยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย
31. ไจแอนท์ ชเนาเซอร์
32. แอร์เดล
33. บอเดอร์ เทอร์เรีย
34. เวลช์ สปริงเกอร์ สแปเนียล
35. แมนเชสเตอร์ เทอร์เรีย
36. เวลช์ สปริงเกอร์ สแปเนียล
37. ฟิลด์ สแปเนียล,
38. นิวฟาวแลนด์,
39. ออสเตรเลียน เทอร์เรีย,
40. เบียร์เด็ด คอลลี่
41. ไอริส เซทเตอร์
42. นอร์วีเจียน เอลค์ฮาวด์
43. ซิลกี้ เทอร์เรีย,
44. มินิเอเจอร์ พินช์เชอร์
45. นอร์วิด เทอร์เรียล
46. ดัลเมเชียน
47. ฟ็อก เทอร์เรีย
48. ไอริช วูล์ฟฮาวด์
49. ออสเตรเลียน เชฟเฟอร์ด
50. ซาลูกิ,
51. ฟินนิช สปิทซ์,
52. พอยเตอร์
53. อเมริกัน วอเตอร์ สแปเนียล
54. ไซบีเรียน ฮัสกี้
55. อิงลิช ฟ็อกซ์ฮาวด์,
56. อเมริกัน ฟ็อกซ์ฮาวด์,
57. เกรย์ฮาวด์
58. สก็อตติช เดียฮาวด์
59. บ็อกเซอร์,
60. เกรทเดน
61. ดัชชุนต์
62. อลาสกัน มาลามูท
63. วิพเพท
64. โรดีเชียน ริดจ์แบ็ค
65. ไอริช เทอร์เรีย
66. บอสตัน เทอร์เรีย,
67. อากิตะ
68. สกาย เทอร์เรีย
69. นอร์โฟล์ค เทอร์เรีย
70. ปั๊ก
71. เฟรนช์บูลด็อก
72. มอลทีส เทอร์เรีย
73. อิตาเลียน เกรย์ฮาวด์
74. ไชนีส เครสเต็ด
75. เจแปนนีส ชิน
76. โอลด์ อิงลิช ชีพด็อก
77. เกรท พิเรนี
78. สก็อตติช เทอร์เรีย,
79. เซนต์เบอร์นาร์ด
80. บูล เทอร์เรีย
81. ชิวาว่า
82. ลาซา แอปโซ
83. มาสทิฟฟ์
84. ชิสุ
85. บาสเซท ฮาวด์
86. บีเกิ้ล
87. ปักกิ่ง
88. บลัดฮาวด์
89. บอร์ซอย
90. เชาเชา
91. บูลด็อก
92. บาเซนจิ
93. อาฟกัน ฮาวด์

ที่มา: http://www.mylovegolden.com/mcontents/marticle.php?headtitle=mcontents&id=67338&Ntype=1