2009-06-05

ภาวะโรคอ้วนในสุนัข

การบ่งชี้ว่าสัตว์มีปัญหาโรคอ้วน

เราสามารถตรวจสอบสุนัขว่ามีปัญหาโรคอ้วนได้โดย

1. เปรียบเทียบน้ำหนักตัวกับน้ำหนักมาตรฐานของสายพันธุ์ 
โดยปกติถ้าสูงกว่าร้อยละ 15 แปลว่าสัตว์มีปัญหาภาวะอ้วนแล้ว และอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะมีโรคอื่นๆ ตามมาด้วย

2. สุนัขพันธุ์ผสม 
อาจจะไม่มีน้ำหนักตัวมาตรฐานของสายพันธุ์ก็อาจจะใช้การคลำบริเวณ ซี่โครง และท้องด้านล่างก็ได้

วิธีการคลำกระดูกซี่โครง คือ ยืนด้านหลังสุนัข วางหัวนิ้วโป้งของมือทั้ง 2 ข้าง ไว้ตรงบริเวณกลางหลัง แล้วกางมือออกไปด้านข้างบริเวณกระดูกซี่โครงทั้ง 2 ข้างลำตัว แล้วลูบกลับไปมาหน้า-หลัง วิธีการคลำในลักษณะนี้จริงๆ แล้วสามารถใช้ได้กับทุกตัวไม่ว่าจะเป็นพันธุ์แท้ หรือพันธุ์ผสม โดยมีการเรียกค่าที่ได้จากการบ่งชี้ด้วยวิธีนี้ว่า ค่าคะแนนความสมบูรณ์ของร่างกาย (body condition score : (BCS)) ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ

1. ผอมมาก สามารถคลำพบกระดูกซี่โครงได้อย่างง่าย บริเวณดังกล่าวไม่มีชั้นไขมันปกคลุมเลย บริเวณโคนหางก็มีปุ่มกระดูกโผล่ขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจน เมื่อมองจากด้านบนในสัตว์ที่อายุมากกว่า 6 เดือน พบว่าจะมีลักษณะเอวคอดคล้ายกับนาฬิกาทราย และเมื่อมองจากด้านข้างจะพบรอยคอดอย่างชัดเจนบริเวณท้อง

2. น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน บริเวณกระดูก ซี่โครงมีชั้นไขมันปกคลุมเล็กน้อย บริเวณโคนหางก็เริ่มคลำพบชั้นของเนื้อเยื่อปกคลุมระหว่างผิวหนังกับกระดูกได้บ้าง เมื่อมองจากด้านบนในสัตว์ที่อายุมากกว่า 6 เดือนยังคง
พบลักษณะเอวคอดคล้ายกับนาฬิกาทราย และเมื่อมองจากด้านข้างจะพบรอยคอดอย่างชัดเจนบริเวณท้อง

3. น้ำหนักมาตรฐาน บริเวณกระดูกซี่โครงมีชั้นไขมันปกคลุม บริเวณโคนหางจะมองไม่เห็นปุ่มกระดูก แต่พอคลำจะสัมผัสพบกระดูกได้โดย ผ่านชั้นของผิวหนังและเนื้อเยื่อไขมันบางๆ เมื่อมองจากด้านบนในสัตว์ที่อายุมากกว่า 6 เดือนพบว่าจะมีลักษณะเอวคอดเล็กน้อย และเมื่อมองจากด้านข้างจะพบรอยคอดเล็กน้อยเช่นกันบริเวณท้อง

4. น้ำหนักเกินมาตรฐาน บริเวณกระดูกซี่โครง จะเริ่มคลำพบได้ยากเนื่องจากมีชั้นไขมันมาปกคลุมมากขึ้น บริเวณโคนหางจะพบว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นเนื่องจากมีชั้นของเนื้อเยื่อมาปกคลุมหนาตัวขึ้น เมื่อมองจากด้านบนจะพบว่าแผ่นหลังมีขนาดกว้างมากขึ้น แต่เมื่อมองจากด้านข้างพบรอยคอดได้เล็กน้อยจนถึงมองไม่เห็นเลย 

5. อ้วน บริเวณกระดูกซี่โครงและโคนหางมีชั้นไขมันมาปกคลุมหนามาก ทำให้คลำพบตัวกระดูกได้ยาก เมื่อมองจากด้านบนในสัตว์ที่อายุมากกว่า 6 เดือนพบว่าจะแผ่นหลังกว้างมาก และเมื่อมองจากด้านข้างจะพบว่าท้องห้อยขยายลงมาทางด้านล่างมากขึ้น มองไม่พบรอยคอดของเอวเลยเนื่องจากมีชั้นไขมันมาปกคลุมด้านข้างมาก 

3. ลักษณะที่เห็นได้ชัด
  • มองเห็นท้องแกว่งไปมา หรือยื่นออกมาจากด้านข้าง เมื่อมองจากด้านบนของตัวสัตว์ลงมา
  • มีชั้นเนื้อเยื่อไขมันมาปกคลุม บริเวณโคนหางและปุ่มสะโพก
  • เดินอุ้ยอ้าย
  • ทำตัวเฉื่อยชา เชื่องช้า หรือเกียจคร้าน
ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดภาวะอ้วน

1. อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น ปัญหาภาวะอ้วนก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยพบว่าในสัตว์ที่อายุต่ำกว่า 2 ปี จะไม่ค่อยมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน แต่เมื่ออายุเพิ่มมากกว่านี้จะพบว่าเกิดภาวะอ้วนเพิ่มสูงขึ้นจนกระทั่งอายุที่พบมาก
ที่สุดคือ 6-8 ปี หลังจากนั้นจะค่อยๆ คงที่ และลดลงอีกครั้งหลังจากอายุ 12 ปี

2. เพศ มีการสังเกตพบว่า เพศเมียจะอ้วนง่ายกว่าเพศผู้ แต่ถ้าทำหมันแล้วก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนสูงกว่าในสัตว์ที่ยังไม่ได้ทำหมันถึง 2 เท่า

3. พันธุกรรม มีรายงานว่าอาจจะมีความเกี่ยวข้องกับภาวะอ้วน ตั้งแต่ร้อยละ 30-70 โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับขบวนการ เผาผลาญพลังงานที่แตกต่างกันไปในสัตว์แต่ละตัว เป็นต้น

4. พันธุ์ มีผลเกี่ยวข้องค่อนข้างมากพันธุ์สุนัขที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะอ้วน คือ
  • ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ (Labrador retrievers)
  • Cairn Terriors
  • ค็อกเกอร์ สเปเนียล (Cocker Spanials)
  • ดัชชุน (Dachshunds)
  • เซตแลนด์ ชีพด๊อก (Shetland Sheepdogs)
  • Basset Hounds
  • บิเกิ้ล (Beagles)
  • ปั๊ก (Pug)
และพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ
  • เยอรมัน เชฟเฟิร์ด (German Shepherds)
  • เกรย์ฮาวด์ (Grayhounds)
  • ยอร์คเชียร์ เทอร์เรีย (Yorkshire Terriers)
  • โดเบอร์แมน (Dobermans)
  • Lurchers
  • วิปเพ็ท (Whippets)
  • บ็อกเซอร์ (Boxers)
5. พฤติกรรม เห็นได้ค่อนข้างชัดเจน จะเกี่ยวข้องทั้งในส่วนของตัวสัตว์เอง และเจ้าของสัตว์ด้วย คือ
ด้านตัวสัตว์
  • ชอบร้องขออาหารจากเจ้าของ
  • ชอบขโมยกินอาหารจากในชามของตัวอื่น ๆ
ด้านเจ้าของ
  • ชอบให้อาหารที่มีแคลอรี่สูงๆ เช่น เนย มันฝรั่งทอด หรือเนื้อติดมัน เป็นต้น
  • ให้อาหารมากเกินความต้องการของสัตว์
  • ชอบให้ขนมพร่ำเพรื่อ
  • ไม่ค่อยพาไปออกกำลังกาย
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ถ้าเจ้าของสัตว์อ้วนจะส่งผลให้สัตว์เลี้ยงมีความเสี่ยงต่อภาวะอ้วนสูงตามไปด้วย โดยเฉพาะในเจ้าของที่มีอายุอยู่ในช่วงวัยกลางคนจนถึงอายุมาก ก็มีส่วนทำให้สัตว์เลี้ยงมีภาวะอ้วนสูงด้วย ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากการที่เจ้าของเกษียณอายุแล้ว มีเวลาอยู่บ้านทำอาหารและรับประทานอาหารมากขึ้น และมีลักษณะของรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว หรือออกกำลังกายมากนัก

6. การให้อาหารแบบ ad libitum ปัจจัยนี้จะเกี่ยวเนื่องกับอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากอาหารสำเร็จรูปไม่ค่อยเกิดการบูดเสียเมื่อตั้งทิ้งไว้ และง่ายต่อการให้ ทำให้เจ้าของส่วนใหญ่ตั้งอาหารเม็ด ไว้ให้สัตว์กินตลอดเวลา หิวเมื่อไรก็ไปทาน จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้สัตว์ได้รับอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย แล้วเกิดภาวะอ้วนตามมาได้

7. ที่อยู่อาศัย โดยปัจจุบันคนส่วนใหญ่นิยมอยู่ในคอนโด หรือหอพักที่มีบริเวณน้อยลง และอาจไม่มีที่ให้สัตว์ได้เคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายมากนัก จนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้สัตว์อ้วนตามมาได้


ผลกระทบของภาวะอ้วน

1. ปัญหาข้อต่อ หรือปัญหาด้านการ เคลื่อนไหว มากกว่าร้อยละ 24 ของสุนัขที่มีภาวะอ้วน จะมีปัญหารุนแรงเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวด้วย โดยปัญหาหลักๆ ที่พบก็คือ arthritis, herniatedintervertebral disks, hip osteoarthritis และ ruptered of anterior cruciate ligament เนื่องจากต้องรับน้ำหนักที่มากเกินไป มีรายงานว่าถ้าลดน้ำหนักสุนัขที่มีปัญหา hip osteoarthritis ได้ประมาณร้อยละ 11-18 จากน้ำหนักเริ่มต้นก็จะ
ทำให้ปัญหาข้างต้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

2. ปัญหาหายใจลำบาก โดยเฉพาะในระหว่างออกกำลังกาย เนื่องจากร่างกายต้องการออกซิเจนมากขึ้น เนื่องจากมีส่วนเกินของเนื้อเยื่อไขมันที่เพิ่มมากกว่าปกติ นอกจากนี้เนื้อเยื่อไขมันที่มาปกคลุมบริเวณช่องอกจะทำให้มีการยืดขยายของช่องอกยากกว่าปกติด้วย ทำให้สัตว์ต้องใช้ความพยายามในการหายใจเข้าออกเพิ่มขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของการหายใจลดลง และเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะ alveolar hypoventilation ด้วย
ทำให้เกิดภาวะ dyspnea, impaired endurance และ fatique ตามมา

3. ความดันโลหิต Hypertension จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะอ้วน การกินอาหารมากเกินความต้องการจะทำให้ระบบ sympathetic ถูกกระตุ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจได้ นอกจากนี้ภาวะความดันโลหิตสูงจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไต หรือทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้นได้

4. Congestive heart disease สัตว์ที่เป็นโรคอ้วนจะมีภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ เนื้อเยื่อไขมันเข้าไปแทรกตามกล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น ทำให้เกิดโรค congestive heart disease ได้ ซึ่งความเสี่ยงต่อโรคนี้จะสูงขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ปกติ

5. ความสามารถในการทำงานของตับลดลง เนื่องจากมีภาวะ hepatic lipidosis 

6. ทำให้ความสามารถในการสืบพันธุ์ บกพร่องทั้งในเพศผู้และเพศเมีย ในเพศผู้ระดับของ plasma testosterone concentration จะลดลง และความสามารถในการเจริญเติบโตของ sperm ก็จะบกพร่องด้วย ซึ่งเนื่องจากการไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในบริเวณถุงอัณฑะและลูกอัณฑะได้ เพราะมีไขมันไปแทรกในถุงหุ้มอัณฑะ ทำให้เป็นฉนวนความร้อน โดยสุนัขที่เป็นโรคอ้วนจะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากกว่าสุนัขปกติถึงร้อยละ 64 ในเพศเมีย จะทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะคลอดยากมากขึ้น

7. ไม่ทนต่ออากาศร้อน เนื่องจากมีชั้น subcutaneous fat มากขึ้น

8. เกิดโรคผิวหนังได้ง่าย มากกว่าสุนัขปกติถึงร้อยละ 40 เนื่องจากไม่สามารถเลียทำความสะอาดบริเวณต่างๆ ของร่างกายได้อย่างทั่วถึงเพราะเอี้ยวตัวไม่ได้ กับมีรอยพับของชั้นผิวหนังที่เกิดขึ้นเนื่องจากภาวะอ้วนด้วย ทำให้เป็นที่หมักหมมของสิ่งสกปรก และเกิดโรคผิวหนังมากขึ้น

9. เกิดเนื้องอกของเต้านม ชนิด adenocarcinoma ได้ง่ายกว่าสุนัขปกติถึงร้อยละ 50 และเอื้อต่อการเกิดเนื้องอกชนิด transitional cell carcinoma ที่กระเพาะปัสสาวะ ได้อีกด้วย

10. มีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดสูงขึ้น และทำให้การผ่าตัดยากมากกว่าปกติเนื่องจากยาสลบ จะถูกดูดซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อไขมัน ทำให้จำเป็นต้องใช้ยาสลบในขนาดที่สูงกว่าขนาดปกติ เพื่อเหนี่ยวนำให้สัตว์เข้าสู่ภาวะสลบ มีการลดลงของขบวนการเมตาบอลิซึมของตับและไต ทำให้มีการขับยาสลบออกจากร่างกายลดลงกว่าปกติ ปอดทำหน้าที่ได้ไม่ดี นอกจากนี้ภาวะอ้วนยังมีความเสี่ยงต่อการที่แผลจะติดเชื้อหรือแผลแตก
มากขึ้น และเพิ่มโอกาสเกิด thrombophlebitis และ pulmonary embolism มากขึ้น

11. ขัดขวางต่อการตรวจวินิจฉัยโรค เช่น การเคาะ และการฟังเสียง เป็นต้น

12. ทำให้ท้องผูก มีแก๊สในกระเพาะมากกว่าปกติ รวมทั้งเกิดแผลหลุม เนื่องจากการทำหน้าที่ของระบบทางเดินอาหารผิดปกติไป

13. มีความต้านทางต่อการติดเชื้อน้อยลง

14. มีการหลั่ง growth hormone ที่ผิดปกติ

15. มีระดับการหลั่ง adrenocortical สูงขึ้น

16. มีความเสี่ยงต่อภาวะ metabolic bone disease สูงขึ้น และภาวะขาดวิตามินดี เนื่องจากไขมันที่เข้ามาปกคลุมลำตัวจะลดโอกาสการได้รับแสง ultraviolet น้อยลง

17. ทำให้มีรูปร่างไม่น่าดู

18. ทำให้เพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคเบาหวาน โดยเฉพาะ type II


การจัดการแก้ไขภาวะอ้วน

สามารถทำได้โดย แบ่งเป็นหลักใหญ่ๆ ได้ 3 หลัก คือ

1. ให้อาหารที่ถูกต้อง
1.1 ลดปริมาณแคลอรี่ที่สัตว์ได้รับลง เช่น ให้อาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ มีเยื่อใยสูง หรือใช้อาหารสำเร็จรูป เฉพาะสูตรที่ทำมาสำหรับการลดน้ำหนักโดยเฉพาะ
1.2 ไม่ให้สัตว์อยู่ในห้องที่มีการทำอาหารหรือ ในห้องรับประทานอาหาร
1.3 ไม่ให้อาหารสุนัขที่มีภาวะโรคอ้วนรวมกับสุนัขตัวอื่นๆ เพราะอาจจะไปขโมยกินอาหารจากชามของตัวอื่นๆ ได้
1.4 ไม่ให้อาหารอื่นๆ ที่นอกเหนือจากอาหารที่คำนวณแล้วว่าเหมาะสมในแต่ละวันและระวังภาวะอดอาหารอาจจะทำให้เกิดภาวะhepatic lipidosis ทำให้ต้องปรับลดระดับอาหารลงอย่างช้าๆ
1.5 อาจจะแบ่งให้อาหารเป็นมื้อเล็กๆ วันละหลายๆ มื้อ

2. ออกกำลังกาย ออกกำลังกายให้สัตว์เลี้ยงเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น พาจูงเดิน โดยจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณระยะทางขึ้น โดยอาจคงเวลาเท่าเดิมก่อนในช่วงแรก พอสัตว์เริ่มมีการปรับตัวได้ จะทำให้สัตว์สามารถเดินในอัตราที่เร็วขึ้นได้ ทำให้จำนวนระยะทางที่ใช้ในการออกกำลังกายเพิ่มขึ้นและทำให้เพิ่มปริมาณพลังงานที่ใช้ไปในขณะที่ใช้เวลาเท่าเดิม หรืออาจใช้การโยนจานบินพลาสติก หรือกิ่งไม้ แล้วให้วิ่งไปเก็บมาก็ได้ ในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับขาก็อาจใช้การว่ายน้ำก็ได้ 

3. พฤติกรรมของเจ้าของ
3.1 ชั่งน้ำหนักสัตว์เลี้ยง อาทิตย์ละ 1 ครั้ง และจดบันทึกเป็นกราฟ เพื่อให้ง่ายต่อการสังเกตการขึ้นลงของน้ำหนักตัว
3.2 ต้องมีความตั้งใจจริงที่จะลดน้ำหนักให้กับสัตว์เลี้ยง
3.3 ไม่ให้ขนมขบเคี้ยวของคนแก่สัตว์
3.4 ให้อาหารในชามอาหารเท่านั้น

No comments:

Post a Comment